ช่วงกลางปีที่แล้ว Alphabet ได้เปิดตัวบริษัทใหม่ Dandelion สตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้กับระบบทำความร้อนและระบบทำความเย็นในบ้านพักอาศัย เวลาผ่านมายังไม่ถึง 1 ปี หลังการทดลองติดตั้งใช้งานกับบ้านเรือนใน New York ก็เริ่มมีสัญญาณบวกทั้งผลการทดลองที่สะท้อนความคุ้มค่าด้านต้นทุนพลังงาน และแรงบวกจากนโยบายลดภาษีจากภาครัฐ
กล่าวถึง Dandelion สักหน่อยว่าเป็นสตาร์ทอัพที่เกิดจากการบ่มเพาะของทีม X ซึ่งหลังจากเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างจริงจังเรื่องการใช้พลังงานทางเลือก Dandelion จึงหลุดพ้นสถานะทีมพัฒนาภายในและแยกตัวออกมาเป็นบริษัท แบบเดียวกับที่ Waymo ทำมาก่อนหน้า
Dandelion เป็นสตาร์ทอัพที่เกิดจากการพยายามตอบโจทย์ด้านการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน แม้ว่าในประเทศไทยนั้น ช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะที่สุด (ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะการใช้เครื่องปรับอากาศ และการใช้น้ำ) ทว่าในสหรัฐอเมริกา ช่วงฤดูหนาวก็เป็นช่วงที่ผู้คนต่างก็ต้องใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นและเสียค่าใช้จ่ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การนำเอาพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิในบ้านพักอาศัยและต้มน้ำให้ร้อนนั้นทำให้ค่าแก๊ส, ค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟอาจพุ่งสูงถึงหลายพันดอลลาร์ได้ และนั่นคือโอกาสที่ทีม X ของ Alphabet มองเห็น และกลายเป็นที่มาของการสร้างทีมพัฒนาภายในภายใต้ชื่อ Dandelion
การทำงานของระบบอุปกรณ์โดย Dandelion นี้ประกอบไปด้วย "ปั๊มความร้อน" และท่อ ground loop ซึ่งจะถูกฝังอยู่ในชั้นดินต่ำกว่าระดับ frost line (หมายถึงเส้นแบ่งระดับความลึกลงไปในดิน ที่น้ำในดินซึ่งอยู่ใต้เส้นดังกล่าวจะไม่แข็งตัวในช่วงฤดูหนาว) โดยท่อ ground loop นี้อาจจัดเรียงตัวในแนวดิ่งลึกถึง 150 เมตร หรือเรียงตัวในแนวนอน ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่หน้างานและสภาพเฉพาะตัวของชั้นดินที่แตกต่างกันไป
ปั๊มความร้อนจะทำหน้าที่ดันน้ำซึ่งผสมสารป้องกันการแข็งตัวให้ไหลไปตามท่อที่ติดตั้งขดไปมาในชั้นดิน ในระหว่างนั้นความร้อนจากชั้นดินจะถูกส่งผ่านท่อมาทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก่อนไหลวนกลับมาที่ปั๊มอีกครั้ง
ความร้อนที่น้ำได้รับระหว่างการไหลผ่านท่ ground loop จะถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยส่งต่อไปใช้กับระบบทำความร้อนและทำความเย็นในบ้าน ซึ่งตรงจุดนั้นน้ำในระบบจะมีอุณหภูมิลดต่ำลง และถูกปั๊มความร้อนดันมันให้กลับไปไหลผ่านท่อ ground loop เพื่อรับพลังงานความร้อนมาใช้ใหม่อีกครั้ง
ในทางกลับกัน เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน น้ำที่ไหลเวียนผ่านท่อ ground loop จะทำหน้าที่นำความร้อนในบ้านไปถ่ายเทออกสู่ชั้นดินแทน (ระบบการถ่ายเทความร้อนเป็นแบบตรงข้ามกับในช่วงฤดูหนาว) ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้าน ลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
ด้วยหลักการดังกล่าวจะทำให้บ้านพักอาศัยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบอื่นเพื่อการต้มน้ำและอุ่นอากาศภายในบ้านได้มาก 20-40% และปล่อยก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้น้อยกว่าระบบทำความร้อนและทำความเย็นแบบทั่วไป 20-65%
หลังการแยกตัวออกเป็นบริษัทและระดมทุนแรกเริ่มได้ 2 ล้านดอลลาร์ Dandelion ก็ได้ทำการทดลองติดตั้งระบบการนำความร้อนใต้พิภพมาใช้กับบ้านเรือนใน New York จำนวน 20 หลัง โดย Matt VanDerlofske หนึ่งในผู้ร่วมโครงการทดสอบติดตั้งระบบ Dandelion โดยฝังท่อ ground loop ลึกกว่า 150 เมตร ภายในพื้นที่ว่างอันจำกัดในสวนหลังบ้าน ได้ให้ข้อมูลว่าในเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ที่ผ่านมา เขาเสียค่าไฟไป 114 ดอลลาร์ และจ่ายค่าไฟ 182 ดอลลาร์สำหรับเดือนธันวาคม ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2016 ที่เขาต้องจ่ายค่าไฟ 240 ดอลลาร์ และ 480 ดอลลาร์ตามลำดับ
ไม่เพียงแต่ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ออกมาในแง่ดีเท่านั้น นโยบายจากภาครัฐก็ดูจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ Dandelion ยิ่งขึ้น หลังจากรัฐสภาได้มีมติขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีให้แก่ประชาชนผู้ติดตั้งระบบการใช้พลังงานสะอาดเป็นมูลค่าไม่เกิน 30% ของค่าติดตั้งระบบ (รายละเอียดการลดหย่อนแตกต่างกันไปตามประเภทของพลังงานที่ใช้ และขนาดของอาคารบ้านพัก ตลอดจนประเภทของผู้เสียภาษี) ซึ่งในกรณีการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพของ Dandelion ที่มีราคาประมาณ 26,000 ดอลลาร์ ก็อาจช่วยลดหย่อนภาษีได้ราว 6,000 ดอลลาร์
การนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้กับระบบทำความร้อนและทำความเย็นในบ้านถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น หลายพื้นที่ฟากตะวันออกของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีนี้กับอาคารของหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็พิสูจน์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างดี ดังเช่นตัวอย่างอาคารศาลใน Missouri ที่สามารถลดค่าแก๊สลงจาก 5,400 ดอลลาร์ เหลือเพียง 800 ดอลลาร์ หลังติดตั้งระบบการใช้ความร้อนใต้พิภพ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ถอดด้ามเสียทีเดียว ในยุโรปนั้นมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนใต้พิภพมานานนับทศวรรษ อย่างในสวีเดนนั้น มีผู้คนราว 20% ที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดนี้ ในขณะที่จีนก็เริ่มผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานนี้เพื่อหวังจะลดการใช้ถ่านหิน 70 ล้านตันให้ได้ภายในปี 2020
ที่มา - InsideClimate News, Recode