หลังจากที่ปล่อยให้คู่แข่งอย่าง IBM กับ Intel สร้างชิพควอนตัมนำไปก่อน ในที่สุด กูเกิลก็ออกมาเปิดเผยในงานประชุมประจำปี American Physics Society ที่ Los Angeles ถึง Bristlecone ชิพควอนตัม 72 คิวบิตที่กูเกิลกำลังวิจัยอยู่ นับเป็นชิพที่มีจำนวนคิวบิตสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการประกาศมา (เทียบกับชิพของ IBM และ Intel ที่มีอยู่ประมาณ 50 คิวบิต)
เป้าหมายสำคัญของการสร้างชิพ Bristlecone ไม่ได้มีแค่จำนวนคิวบิตที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมี error rate ต่ำด้วย โดยเทียบกับชิพควอนตัมขนาด 9 คิวบิตที่กูเกิลเคยสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2016 (ผมเข้าใจว่าน่าจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันด้วย แต่สเกลให้มีจำนวนคิวบิตเยอะขึ้น) เท่าที่ทดสอบมาแล้วคือ error rate อยู่ในระดับต่ำกว่าชิพเดิม เมื่อใช้คิวบิตจำนวน 49 คิวบิต (รายละเอียดการทดสอบสามารถอ่านได้เพิ่มเติมจากที่มา)
นอกเหนือจากการแข่งขันกับชาวบ้านแล้ว ชิพควอนตัมอันใหม่นี้ก็จะถูกนำไปใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับ simulation, optimization, และ machine learning ด้วย
ที่มา - Google Research
(ซ้าย) ชิพ Bristlecone ของกูเกิล (ขวา) ภาพจำลองการจัดเรียงคิวบิตภายในชิพ (ภาพจาก - Google Research)
กราฟแสดงทิศทางการวิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมของกูเกิล (ลูกศรสีแดง) จะเห็นได้ว่ากูเกิลพยายามผลิตชิพที่มีจำนวนคิวบิตเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ error rate ก็ต้องน้อยลงด้วยเช่นกัน (ภาพจาก - Google Research)