เสวนา Open Data รัฐไทยยังไม่เปิดเผยข้อมูลมากพอ โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานและการถือครองที่ดิน

by sunnywalker
9 March 2018 - 09:34

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดข้อมูลสากล หรือ International Open Data Day เป็นวันที่กลุ่มคนที่สนใจระบบข้อมูลแบบเปิดทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรม เช่น พัฒนาแอพพลิเคชั่นการเปิดข้อมูล, แฮกกาธอน จุดประสงค์ของการจัดงานคือสนับสนุนให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะที่แท้จริง

ด้านประเทศไทยก็มีจัดกิจกรรมเช่นกัน เป็นเวทีเสวนา Open Data และแฮกกาธอนสร้างชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง จัดขึ้นที่ TK Park เซนทรัลเวิลด์

องค์กรร่วมจัดงานคือ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน, สถาบัตส่งเสริมประชาธิปไตย, สถาบันพระปกเกล้า, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, มูลนิธิอันเฟรล, มูลนิธิกองทุนไทย, สถาบันเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม, สถาบัน Change Fusion และ Blognone

เสวนาหัวข้อ Open Data กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI โดย ดร.เดือนเด่น บอกว่าหลักการ Open Data มี 5 อย่างคือ

  • ต้องเปิดเผยข้อมูลบนออนไลน์
  • สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ติดลิขสิทธิ์
  • ดาวน์โหลดข้อมูลได้ครบเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ดาวน์โหลดได้เป็นข้อมูลชุดเดียว ไม่แยกเป็นหลายชุดสร้างความซับซ้อน
  • นำข้อมูลไปประมวลผลต่อได้ ไม่อยู่ในรูปแบบ PDF
  • ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการนำข้อมูลออกไปใช้ต่อ

ตัวอย่างข้อมูลที่ควรเปิด เช่น ตารางการเดินรถโดยสาร, สัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน, ข้อมูลแผนที่ โดยเฉพาะที่ตั้งของหน่วยงานราชการ สถานที่สาธารณะ

ดัชนีชี้วัดการเปิดข้อมูลสากล ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

ผลการประเมินดัชนีการเปิดเผยข้อมูลระดับสากล ในปี 2016 ระบุว่า ไทยได้คะแนนในแต่ละด้านน้อย

  • ปริมาณและคุณภาพของชุดข้อมูล ได้คะแนน 31 เต็ม 100
  • ความพร้อมของแต่ละภาคส่วนได้คะแนน 40 เต็ม 100 ในข้อนี้ประเมินความพร้อมของภาคเอกชน วิชาการ สื่อ และภาคสังคมด้วยว่า พร้อมจะนำข้อมูลออกไปใช้แต่ไหน ต่อให้รัฐเปิดข้อมูลมาก แต่ไม่มีภาคส่วนไหนนำไปใช้เลย ก็จะไม่เกิดผลกระทบในข้อถัดไป
  • ผลกระทบของชุดข้อมูล ได้คะแนนเฉลี่ย 11 เต็ม 100 ข้อนี้ดูจากข้อมูลที่รัฐบาลเปิดไปแล้ว ช่วยสร้างผลกระทบให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในด้านนั้นมากขึ้นหรือไม่

ผู้อ่านสามารถเข้าดูชาร์ตแบบละเอียดได้ ที่นี่

จะเห็นได้ว่า impact หรือผลกระทบของชุดข้อมูลได้คะแนนต่ำมาก ทั้งที่ปริมาณข้อมูลที่เปิดไม่ได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนั้น
เมื่อลองเปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ชัดว่าคะแนนการเปิดข้อมูลด้านต่างๆ ของฟิลิปปินส์อยู่ในคะแนนที่ไม่ห่างชั้นกับไทยมาก แต่คะแนน impact (อยู่ตรงด้านล่างแถบสีม่วง) มีเยอะกว่าไทยหลายเท่า

หมายเหตุ : ดัชนีการเปิดเผยข้อมูลระดับสากล หรือ Open Data Barometer (ODB) เป็นโครงการที่ก่อตั้งโดย World Wide Web Foundation องค์กรไม่แสวงกำไรเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต จุดประสงค์ของโครงการคือ ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มและนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ

ไทยเปิดข้อมูลอะไรแล้วบ้าง

ตามชาร์ตนี้มีข้อมูลที่รัฐควรเปิดเผยตามมาตรฐานสากล เช่นตารางการเดินรถ, สัญญาระหว่างรัฐ-เอกชนหรือ public contract, ข้อมูลแผนที่ ระบุที่อยู่หน่วยงานราชการ สถานที่สาธารณะทั้งหมด โดยมีระบุคะแนนของข้อมูลแต่ละประเภทไว้ว่าไทยได้คะแนนเท่าไร จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อใดได้คะแนนเต็ม นั่นหมายความว่าไม่มีข้อมูลใดเป็น open data โดยสมบูรณ์

ข้อมูลเปิดที่ไทยได้คะแนนสูงคือฐานข้อมูลบริษัทเอกชน และที่ได้คะแนนต่ำมากคือ สัญญาสัมปทานหรือ public contract ทั้งที่ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารระบุชัดเจนว่าต้องเปิดข้อมูลสัญญาสัมปทาน แต่เอาเข้าจริงมีหน่วยงานไม่กี่แห่งที่เปิดข้อมูลนี้

ข้อมูลการถือครองที่ดินไทยได้คะแนนต่ำเช่นกัน การถือครองที่ดินแสดงถึงแหล่งอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ การเปิดข้อมูลที่ดินจึงแสดงถึงความโปร่งใส แต่ในกรณีประเทศไทยที่ยังไม่มี พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ทำให้เส้นแบ่งระหว่างข้อมูลที่ควรเปิดเผยกับข้อมุส่วนบุคคลนั้นไม่ชัด เมื่อเป็นเช่นนี้ หน่วยงานราชการไทยจึงไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัวถูกฟ้อง

สรุปปัญหาการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย

ดร.เดือนเด่น สรุปปัญหามาดังนี้

  • ไม่มีมาตรฐาน
  • ไม่มีกฎหมาย
  • ไม่มีการบังคับใช้
  • รัฐบาล และหน่วยงานราชการไม่เห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ open data ไม่เกิดขึ้น

ปัญหาการเปิดเผยข้อมูลในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ TDRI เคยจัดสัมมนาการเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะมาแล้ว สามารถอ่านย้อนหลังได้ ที่นี่

Blognone Jobs Premium