งานวิจัย Stanford ใช้เลเซอร์สะท้อนผนังทำให้เห็นวัตถุหลังกำแพงได้

by ตะโร่งโต้ง
12 March 2018 - 18:19

ทีมวิจัยจาก Stanford พัฒนางานวิจัยการใช้แสงเลเซอร์เพื่อตรวจสอบวัตถุที่อยู่หลังผนังทึบแสง โดยอาศัยการปล่อยแสงเลเซอร์ให้ตกกระทบวัตถุและวิเคราะห์แสงที่สะท้อนกลับมายังเซ็นเซอร์

ทว่าการใช้วิธียิงแสงเลเซอร์ไปตกกระทบวัตถุและตรวจจับแสงสะท้อนโดยตรงนั้นเรียกได้ว่าไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยี LIDAR ที่มีใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน หากแต่สิ่งที่ทีมวิจัยทำกันนั้นแตกต่างยากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น พวกเขาใช้ฉากกั้นทึบแสงวางกั้นกลางระหว่างเครื่องยิงลำแสงกับวัตถุ จากนั้นก็ยิงลำแสงเลเซอร์ให้ตกสะท้อนผนังอ้อมฉากกั้นไปตกกระทบวัตถุเป้าหมายที่ซ่อนอยู่หลังฉาก

จากนั้นแสงที่ตกกระทบวัตถุที่สะท้อนกระเจิดกระเจิงออกไปในหลายทิศทาง จะสะท้อนกับผนังผืนเดิมกลับมายังบริเวณเครื่องยิงลำแสงเลเซอร์ที่ซึ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงสะท้อนเอาไว้อยู่ด้วย

โดยรวมแล้วหลักการเหมือนจะเรียบง่าย ใช้การยิงคลื่นออกไปและตรวจจับคลื่นที่สะท้อนกลับ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีโซนาร์, เรดาร์ และ LIDAR ทว่าความซับซ้อนของการวิเคราะห์แสงเลเซอร์ที่ผ่านการกระทบวัตถุและสะท้อนไม่น้อยกว่า 3 ครั้งกลับมายังเซ็นเซอร์นั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินกว่าการวิเคราะห์ฺคลื่นที่สะท้อนโดยตรงเพียงครั้งเดียวมากนัก

การนำเอาสัญญาณของแสงเลเซอร์ที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้มาพล็อตแบบ 3 มิติ นั้นมิได้ให้ผลออกมาเป็นภาพร่างของวัตถุเป้าหมายโดยตรง ทีมวิจัยต้องอาศัยการคัดกรองสัญญาณรบกวน และนำเอาข้อมูลที่เหลือมาผ่านการแปลง LCT (Light Cone Transform) ซึ่งอิงมาจากรูปทรงเรขากรวยของแนวลำแสงเลเซอร์ที่ออกมาจากเครื่องยิง

ทีมวิจัยหวังว่าจะสามารถต่อยอดงานค้นคว้าและนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายสถานการณ์ ทั้งเพิ่มความสามารถในการตรวจจับวัตถุของระบบรถยนต์ไร้คนขับ, งานสำรวจข้อมูลด้วยอากาศยาน ตลอดจนใช้เพื่อการค้นหาและกู้ภัยในยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ

ที่มา - Stanford News

Blognone Jobs Premium