องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้เตือนว่า ตอนนี้แพลตฟอร์ม Facebook ได้เป็นตัวเร่งในการกระจาย hate speech และแนวคิดด้านความรุนแรงเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในเมียนมาร์ เนื่องจากตัวแพลตฟอร์มมีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในเมียนมาร์อย่างมาก โดยปัจจุบัน Facebook ถูกกลุ่มนักศาสนาพุทธที่มีแนวคิดชาตินิยมรุนแรงใช้ในการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง และความเกลียดชังชาวโรฮิงญารวมถึงชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ
Marzuki Darusman ประธานฝ่ายที่ดูแลเรื่องเมียนมาร์โดยเฉพาะกล่าวว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียนั้นได้มีบทบาทสำคัญมากในเมียนมาร์ โดยมีส่วนทั้งในความรุนแรงและความขัดแย้ง ซึ่งในกรณีของเมียนมาร์นั้นโซเชียลมีเดียคือ Facebook
Yanghee Lee เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นซึ่งมีหน้าที่สืบสวนเรื่องราวในพม่าเตือนว่า Facebook นั้นมีบทบาทต่อชาวเมียนมาร์สูงมาก ทุกสิ่งทุกอย่างบนเมียนมาร์สามารถจบได้บน Facebook ซึ่งมีผลทางบวกทั้งช่วยเหลือด้านความยากจนไปจนถึงผลทางลบอย่างการแพร่กระจาย hate speech โดย Lee แสดงความกังวลว่า Facebook จะกลายเป็นพื้นที่แห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มุ่งหวังไว้แต่แรก
ทั้งนี้ แม้ว่าเพจพระวีรธุซึ่งเคยปลุกระดมสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาได้ถูกลบออกจาก Facebook ไปแล้ว ก็น่าจะยังไม่เพียงพอต่อการหยุดปัญหาดังกล่าว
ในอดีตนั้น รัฐบาลทหารของเมียนมาร์นั้นจะคอยควบคุมอินเทอร์เน็ตทุกอย่าง แต่ว่าตั้งแต่ปี 2011 มีการเลือกตั้งขึ้น และทำให้สื่ออย่าง Facebook มีอิทธิพลมากขึ้นจนเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญมากของเมียนมาร์ โดยปัจจุบันผู้ใช้ Facebook ในเมียนมาร์มีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน จากประชากรกว่า 53.7 ล้านคน (ข้อมูลจาก Worldometers) นักสิทธิมนุษยชนจึงเตือนว่า Facebook นั้นถูกใช้เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างความเกลียดชังและปลุกระดมต่าง ๆ ภายในประเทศเมียนมาร์แล้ว
นอกจากพม่าแล้ว ก่อนหน้านี้ที่เป็นประเด็นดังก็มีศรีลังกาที่มีกรณีข่าวโจมตีมุสลิมแพร่ระบาดจนทำให้รัฐบาลสั่งบล็อก Facebook ไปแล้ว
Christina Larson จาก Foreign Policy เคยเขียนวิเคราะห์บทบาท Facebook ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วว่า ปัจจุบัน Facebook กลายเป็นสื่อกระแสหลักจนมีผลกระทบกับชีวิตคนมาก แต่กลับไม่มีตัวแทนของ Facebook อยู่ในประเทศ หรือมีก็เพียงแค่สำนักงานเล็ก ๆ ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก สามารถอ่านบทวิเคราะห์ได้ที่ข่าวเก่า
ที่มา - Reuters, TechCrunch
ชาวโรฮิงญา ภาพจาก Wikipedia