ผลการศึกษาโดย NASA ระบุว่าการอยู่บนอวกาศมีผลต่อพันธุกรรมในร่างกายมนุษย์

by ตะโร่งโต้ง
15 March 2018 - 19:57

NASA เผยผลการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของนักบินอวกาศเมื่อปฏิบัติงานอยู่ในอวกาศเป็นระยะเวลานาน ผ่านโครงการวิจัย "Twins Study" และพบว่าพันธุกรรมในร่างกายมนุษย์มีความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะกลับคืนสภาพเดิมอย่างรวดเร็วเมื่อมนุษย์อวกาศเดินทางกลับสู่ผิวโลก เว้นแค่บางอย่างที่อาจต้องใช้เวลานานขึ้นเพื่อคืนสภาพ

โครงการ Twin Study มีทีมวิจัยย่อยนับสิบทีมที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่รวบรวมมาจากทั่วประเทศ แบ่งหน้าที่กันศึกษาความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของ Scott Kelly นักบินอวกาศของ NASA เปรียบเทียบคู่แฝดของเขา Mark Kelly โดยข้อมูลที่เก็บได้จาก Mark ผู้ที่อยู่บนผิวโลกตลอดเวลาจะถือเป็นข้อมูลกลุ่มควบคุม


ซ้าย - Mark Kelly แฝดผู้อยู่บนโลก, ขวา - Scott Kelly แฝดผู้กลับมาจากอวกาศ

แผนการศึกษานี้เริ่มต้นขึ้นปีที่แล้วตั้งแต่ช่วงก่อนที่ Scott จะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนาน 1 ปี (ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพื่อการวิจัย นานกว่าระยะเวลาปกติซึ่งนักบินอวกาศจะทำงานในสถานีอวกาศเพียง 6 เดือน) และมาปีนี้เมื่อ Scott เดินทางกลับมายังโลก ทีมวิจัยก็ได้เก็บข้อมูลจากเขา เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จาก Mark อีกครั้ง

ผลการศึกษาพบว่าการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศเป็นระยะเวลานาน ภายใต้สภาพแวดล้อมก๊าซออกซิเจนมีจำกัด ประกอบกับอาการอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสารอาหารในร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับรหัสพันธุกรรม

ลึกลงไปในร่างกายของ Scott ทีมวิจัยพบว่าส่วน telomere ซึ่งเป็นส่วนปลายของโครโมโซมนั้นยาวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ Scott อยู่บนอวกาศ ทั้งที่โดยปกติแล้ว telomere จะสั้นลงเมื่อคนมีอายุเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อ Scott กลับลงมายังโลก บรรดา telomere ส่วนใหญ่ก็หดสั้นลงเป็นปกติภายในระยะเวลาแค่ 2 วัน

ทว่ายังมีสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าที่เรียกว่า "ยีนอวกาศ" นักวิจัยพบว่ายีน 93% ของ Scott กลับคืนสู่สภาพเดิมในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่ Scott กลับมาถึงโลก แต่ยีนอีก 7% นั้นดูเหมือนจะไม่ยอมเปลี่ยนกลับคืนเหมือนตอนก่อนออกไปอวกาศง่ายๆ มันต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่ายีนส่วนนี้จะเปลี่ยนสภาพกลับคืน (หรือไม่แน่ว่ายีน 7% นี้อาจจะไม่เปลี่ยนกลับสู่สภาพเดิมเลยก็เป็นได้) โดยยีนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน, การซ่อมแซมรหัสพันธุกรรม, การควบคุมปริมาณก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด

การสรุปผลที่รวบรวมได้ทั้งหมดในโครงการ Twin Study จะทำกันในช่วงปลายปีนี้ ซึ่ง NASA ก็หวังว่าข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ให้นักบินอวกาศสามารถทำหน้าที่และใช้ชีวิตในอวกาศได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังถือว่าโครงการ Twin Study เป็นการเตรียมงานสำหรับปฏิบัติการที่ต้องใช้เวลาในอวกาศนานกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นการเดินทางไปดาวอังคาร ซึ่งจะเป็นปฏิบัติการต่อเนื่องยาวนาน 3 ปี

ที่มา - NASA

Blognone Jobs Premium