ผู้ขับแท็กซี่ในเมืองอิสตันบูลประเทศตุรกีเตรียมฟ้อง Uber ในข้อหาคุกคามวิถีชีวิตเนื่องจากการขัดขวางธุรกิจ ถือเป็นความขัดแย้งครั้งล่าสุดของเหล่าผู้ขับแท็กซี่เดิมกับ Uber โดยคนขับแท็กซี่ได้ร้องต่อศาลว่า Uber นั้นให้บริการแท็กซี่แบบไม่มีใบอนุญาตในตุรกี และต้องการให้แบนการใช้งานแอพด้วย
ในทางกลับกัน โซเชียลมีเดียของตุรกีเกิดกระแสต่อต้านคนขับแท็กซี่ทำให้มีช่วงหนึ่งที่แฮชแท็ก “#idon’tusetaxis” และ “#don’ttouchuber” นั้นติดเทรนด์ในตุรกี โดยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วนกล่าวถึงความเหนื่อยหน่ายกับพฤติกรรมที่เรียกว่าหยาบคายและไม่ระมัดระวังของคนขับแท็กซี่ อย่างเช่นผู้ใช้รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Sinem ทวีตว่า “จนถึงตอนนี้ คนขับแท็กซี่นั้นเลือกผู้โดยสาร ตอนนี้เราต้องการเลือกวิธีการเดินทางของเราเอง” โดยเผยว่าคนขับแท็กซี่นั้นไม่ยอมรับผู้โดยสารที่เดินทางระยะสั้น แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงท้องก็ตาม พร้อมติดแท็ก #donttouchuber หรือผู้ใช้อีกรายที่ใช้ชื่อว่า Orhan กล่าวว่าคนขับ Uber นั้นสุภาพกว่าและไม่มีการคิดเงินผู้โดยสารเกิน
ฝั่ง Uber ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้ขับแท็กซี่ที่ใช้แอพ Uber หาลูกค้าถึง 2,000 คน ในขณะที่อีก 3,000 คนนั้นขับ UberXL รถแวนสำหรับรับส่งผู้โดยสารเป็นกลุ่ม หรือส่งผู้โดยสารพร้อมสัมภาระไปยังสนามบิน
คนขับ Uber นั้นยังโดนคนขับแท็กซี่พยายามข่มขู่หรือทำลายทรัพย์สินอีกด้วย อย่างเช่น Irfan Er คนขับ UberXL เผยว่าเขาถูกคนขับแท็กซี่ข่มขู่ด้วยมีดในคืนหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตอนเขากำลังส่งผู้โดยสาร ซึ่ง Er บอกว่าเขาเองก็เคยเป็นคนขับแท็กซี่มาก่อนแต่ตอนนี้อยากจะเป็นนายของตัวเอง และยืนยันว่าเราต้องตามทันเทคโนโลยีและยุคสมัยปัจจุบัน Uber นั้นคือเทคโนโลยีล่าสุดที่จะต้องปรับตัวให้ได้
Eyup Aksu หัวหน้าสำนักงานธุรกิจแท็กซี่ในอิสตันบูล ซึ่งมีคนขับแท็กซี่ภายใต้สังกัด 50,000 คนและแท็กซี่ที่ได้รับอนุญาตกว่า 18,000 คันกล่าวว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนขับ Uber เพื่อที่จะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลในการพิจารณากรณีดังกล่าว
คนขับแท็กซี่นั้นชี้ถึงประเด็นว่ามีสิ่งที่พวกเขาต้องจ่ายแต่คนขับ Uber ไม่ต้อง อย่างเช่นค่าธรรมเนียม 1.5 ล้านลีรา (หน่วยเงินตุรกี) คิดเป็นเงินประมาณ 385,000 ดอลลาร์ (แต่หลายกรณีนั้นคนขับแท็กซี่ก็มักจะใช้วิธียืมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้เจ้าของ 4,000-7,000 ลีราต่อเดือน)
ปัจจุบัน Uber ก็ยังต้องประสบปัญหากับการให้บริการในท้องถิ่นหลายแห่ง โดยกรณีที่ผ่านมา เช่น ฮังการี, มาเก๊า, เกาหลีใต้, สเปน เป็นต้น ซึ่งบางกรณี Uber ก็สามารถแก้ปัญหาจนกลับมาให้บริการได้แล้ว แต่ก็มีหลายกรณีที่ยังไม่สามารถทำได้
ที่มา - Reuters
ภาพโดย Iker Merodio / Flickr CC BY 2.0