MIT สร้างชุดทดสอบสารเคมีใหม่ จับเซลล์จากทั้งร่างกายยัดใส่กล่องแบบพกพา

by ตะโร่งโต้ง
18 March 2018 - 06:45

นักวิจัยจาก MIT พัฒนาชุดทดสอบสารเคมีแบบใหม่ใส่กล่องพกพา โดยในกล่องดังกล่าวสามารถใส่ตัวอย่างเนื้อเยื่อแบบต่างๆ ใส่เข้าไปเพื่อทดสอบได้นับ 10 แบบ

ทีมวิจัยเรียกชุดอุปกรณ์นี้ว่า "physiome on a chip" มันมีลักษณะเป็นกล่องที่มีช่องเล็กๆ ไว้สำหรับใส่เนื้อเยื่อแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น ตับ, ปอด, สมอง, หัวใจ, ไต, ไส้, กระดูก และอวัยวะอื่นๆ ตามแต่ต้องการ ในช่องสำหรับใส่เนื้อเยื่อเหล่านั้นมีรูที่สามารถปั๊มของไหลให้ไหลเวียนผ่านเข้าออกแต่ละช่องได้ การปั๊มของไหลเป็นการจำลองกระแสเลือดที่เจือไปด้วยสารเคมีอันเป็นหัวข้อการทดสอบ ซึ่งอาจจะเป็นยา หรือวัคซีนต่างๆ ไหลเวียนผ่านเนื้อเยื่ออวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย โดยชุดอุปกรณ์นี้สามารถเลี้ยงเนื้อเยื่อไว้เพื่อการทดสอบได้นาน 4 สัปดาห์

จุดแตกต่างที่สำคัญของอุปกรณ์ทดสอบเนื้อเยื่อลักษณะที่เหนือกว่าการนำชิ้นเนื้อมาทดสอบในถาดตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ คือ การเปิดความเป็นไปได้ที่จะค้นพบผลที่สืบเนื่องกันของเนื้อเยื่อแต่ละประเภทที่ได้รับสารเคมี เป็นต้นว่า การที่สารเคมีไหลผ่านหัวใจไปยังตับและไตจะส่งผลอย่างไรนั้น สามารถใช้ชุดทดสอบเพื่อหาคำตอบได้ง่ายกว่าการทดสอบโดยแยกถาดเนื้อเยื่อแต่ละประเภทออกจากกัน

อุปกรณ์เพื่อการทดสอบเนื้อเยื่อเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่เอี่ยมเสียทีเดียว หากแต่อุปกรณ์ที่มีมาก่อนหน้านี้มีลักษณะเป็นภาชนะปิดที่ต้องอาศัยชุดปั๊มของไหลที่เชื่อมต่อจากภายนอก และใช้เพื่อการทดสอบเนื้อเยื่อได้คราวละ 2-3 ชนิดเท่านั้น การอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้มีปั๊มในตัว และรองรับการทดสอบเนื้อเยื่อได้หลากหลายชนิดยิ่งกว่า ทั้งยังได้รับการออกแบบให้เป็นภาชนะเปิดเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บตัวอย่างไปทดสอบ จึงถือเป็นงานออกแบบทางวิศวกรรมที่ยกระดับอุปกรณ์ทดสอบเนื้อเยื่อไปอีกขั้น

การทดสอบเช่นนี้ มีประโยชน์เพื่อการศึกษาการตอบสนองและผลข้างเคียงเบื้องต้นของเนื้อเยื่ออวัยวะแต่ละประเภทที่มีต่อสารเคมีที่ใช้ในการทดสอบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลายขั้นตอนที่ต้องทำก่อนจะไปถึงขั้นการทดสอบทางคลินิกกับร่างกายคนจริงๆ ได้ในภายหลัง การใช้ชุดทดลองเช่นนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ทดสอบ แต่ยังช่วยลดความสูญเสียของชีวิตสัตว์ทดลองด้วย

ที่มา - MIT News

Blognone Jobs Premium