รีวิว Fitbit Ionic สมาร์ทวอทช์ตัวแรกจาก Fitbit ฟังก์ชันสุขภาพมีครบ เพิ่มเติมคือแอพและลูกเล่นใหม่ๆ

by arjin
24 March 2018 - 10:15

Fitbit นั้นเป็นผู้ผลิตสายรัดข้อมือที่เน้นจุดขายด้านความเป็นอุปกรณ์สุขภาพ ฟิตเนส มาโดยตลอด เมื่อปีที่แล้ว Fitbit ได้เข้าสู่ตลาดสมาร์ทวอทช์ ด้วยการเปิดตัว Fitbit Ionic ที่นอกจากจะเน้นสุขภาพยังเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งทาง Blognone ก็ได้รับสมาร์ทวอทช์ Fitbit Ionic นี้มาทดสอบ มาดูกันว่าครั้งแรกของ Fitbit ในโลกนาฬิกาอัจฉริยะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นเริ่มด้วย รายละเอียดสเป็กเด่นของ Fitbit Ionic ก่อน ซึ่งมีจุดเด่นหลายอย่าง อาทิ

  • หน้าจอ LCD ความละเอียด 348x250 พิกเซล มีความสว่างเด่นชัด
  • น้ำหนัก 30 กรัม
  • แบตเตอรี่อยู่ได้ราว 4 วัน
  • มี Wi-Fi และ GPS ในตัว
  • เชื่อมต่อกับหูฟังบลูทูธได้ในตัว
  • กันน้ำลึก 50 เมตร

เปิดกล่องดูของกัน

ค่อนข้างแตกต่างจาก Fitbit รุ่นก่อนๆ หน้า เพราะ Fitbit Ionic นั้นกล่องใหญ่ขึ้นมาพอสมควร อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องประกอบด้วย

  • ตัวสมาร์ทวอทช์ Fitbit Ionic ประกอบพร้อมสายนาฬิกาขนาดใหญ่
  • สายนาฬิกาขนาดเล็ก สำหรับผู้หญิง
  • สายชาร์จ

สายชาร์จของ FitBit Ionic ก็เปลี่ยนรูปแบบอีก คราวนี้เป็นขั้วชาร์จที่ด้านหลังของนาฬิกา เวลาวางก็จะต้องตะแคงหน้าปัดไว้

ยลโฉมกันชัดๆ

ตัวของนาฬิกาของ Ionic เป็นอะลูมิเนียม มีน้ำหนักเบา ส่วนสายที่ให้มาเป็นพลาสติก มีการล็อก 2 ชั้นเวลาสวมใส่ทำให้รู้สึกแน่นหนาดี หน้าปัดเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งถือเป็นทรงที่ดู geek พอสมควร (ชวนนึกถึง Casio รุ่นเครื่องคิดเลข) อันนี้ก็อาจจะไม่ถูกใจหลายคน

ปุ่มนาฬิกา มีทั้งหมด 3 ปุ่ม เหมือนกับ Fitbit รุ่นก่อนหน้า ด้านซ้าย 1 ปุ่ม ไว้สำหรับ Back ส่วนอีก 2 ปุ่มด้านขวา สำหรับกดเลือก และสำหรับเรียกคำสั่งลัดต่างๆ

สิ่งที่เด่นมากเมื่อเริ่มหยิบมาดูคือหน้าจอ ซึ่งสว่างเด่นมาก แม้แต่อยู่กลางแดดก็ยังเห็นชัดเจน เป็นจอ LCD มีความละเอียดดีที่ 348x250 พิกเซล ทัชสกรีน การใช้งานลื่นไหลดี (โดยเฉพาะหลังจากอัพเดตเป็น Fitbit OS 2)

แบตเตอรี่เป็นอีกจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นมาก ซึ่ง Fitbit ทำตรงนี้ได้ดีอยู่แล้ว สำหรับ Fitbit Ionic นั้นสามารถใช้งานได้สบายๆ ระดับ 4 วัน เลยทีเดียว

เริ่มใช้งาน จับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ

Fitbit Ionic มีลูกเล่นในการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นมาก เริ่มต้นเราก็ดาวน์โหลดแอพ Fitbit มาก่อน เพื่อเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ซึ่งมีทั้ง iOS, Android และ Windows การเชื่อมต่อนั้นทำได้ง่าย หลังเชื่อมต่อแล้ว ด่านแรกคือการอัพเดตซอฟต์แวร์ ซึ่ง Ionic เป็น Fitbit ตัวแรกที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Fitbit OS (เดาว่าพัฒนาต่อยอดจากตอนซื้อ Pebble) เวอร์ชันล่าสุดเป็นเวอร์ชัน 2 ที่เพิ่งออกมาในช่วงรีวิวพอดี

Fitbit Ionic สามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ได้โดยตรง ทำให้ขั้นตอนการอัพเดตซอฟต์แวร์ไม่ใช้เวลานานมาก

อีกจุดขายคือการที่ตัวสมาร์ทวอทช์เองสามารถเชื่อมต่อกับหูฟังบลูทูธ หรืออุปกรณ์เสียงอื่นๆ ที่เป็นบลูทูธได้เลย โดยเข้าไปที่ Settings ในนาฬิกา แล้วเลือกหัวข้อ Bluetooth ใช้ได้กับทุกหูฟัง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นหูฟัง Fitbit Flyer

เมื่อมีหูฟังแปลว่าเราต้องฟังอะไรสักอย่าง อีกจุดขายของ Fitbit Ionic คือเราสามารถโหลดเพลงใส่เข้าไปในตัวนาฬิกาได้เลย (Fitbit มีพื้นที่ราว 2.5GB ใส่ได้หลายร้อยเพลง) อย่างไรก็ตามการโหลดเพลงเข้าไปค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว เพราะบังคับให้ทำผ่านเดสก์ท็อปเท่านั้น โดยดาวน์โหลดโปรแกรม Fitbit มาไว้ในเครื่อง แล้วโปรแกรมจะสแกนหาเพลย์ลิสต์ การโหลดเพลงเข้าไปก็ต้องโหลดไปแบบทั้งเพลย์ลิสต์เท่านั้น

ฟีเจอร์ออกกำลังกาย

จุดแข็งของ Fitbit คือการชูความเป็นสายรัดข้อมูลเน้นด้านสุขภาพ และ Fitbit ก็จริงจังเรื่องนี้มาตลอด ถึงมาเป็นสมาร์ทวอทช์ Ionic ก็ยังคงเก็บฟีเจอร์ออกกำลังกายมาครบเครื่องมาก โดยมีโปรแกรมออกกำลังกาย ได้แก่ วิ่ง, จักรยาน, ว่ายน้ำ (สามารถใส่ว่ายน้ำได้เลย เพราะกันน้ำ 50 เมตร), วิ่งบนสายพาน, ยกเวท ฯลฯ มีโหมดโค้ช ที่เป็นการท้าทาย มีการแจ้งเตือนให้เดินทุกชั่วโมง และมีโหมด Relax ที่เป็นการผ่อนคลาย ควบคุมลมหายใจเข้าออก รวมทั้งตัวตรวจจับการนอนหลับที่เก็บข้อมูลออกมาละเอียดมากกว่าเดิม

องค์ประกอบของเซ็นเซอร์ที่ใส่มานั้นทำให้การตรวจจับออกมาแม่นยำน่าพึงพอใจมาก โดยมีเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวแบบ 3 แกน, ตัววัดระบบชีพจรแบบ optical, ตัววัดระดับความสูง และยังใส่ GPS มาด้วย จากการทดสอบร่วมกับอุปกรณ์จากค่ายอื่น ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกัน ทั้งระดับชีพจร, ระยะทาง

Fitbit OS

Fitbit Ionic เป็นก้าวแรกของ Fitbit สู่การเปลี่ยนจากสายรัดออกกำลังกายสุขภาพ สู่คำว่าสมาร์ทวอทช์ ที่ผ่านมาเราเห็นสมาร์ทวอทช์จากหลายค่าย แต่ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก ซึ่ง Fitbit OS ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน โดยอาศัยรากจาก Pebble OS แยกส่วนที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้เพิ่มเติมสองส่วนคือ หน้าปัด (Clock Faces) และแอพเสริมทั้งหลาย

ส่วนติดต่อผู้ใช้งานนั้นลื่นไหลดี การปัดราบรื่น โดยเฉพาะหลังจากอัพเดตเป็นเวอร์ชันล่าสุด Fitbit OS 2 แต่การเรียกใช้งานในแอพพื้นฐานอาจจะงงๆ บ้าง เพราะแอพส่วนมากนิยมนำปุ่มกดไปไว้ที่มุมหน้าจอ

การเพิ่มหน้าปัดนาฬิกาและแอพนั้นต้องทำผ่านแอพ Fitbit เท่านั้น โดยเข้าไปที่หน้าบัญชีเรา เลือก Fitbit Ionic จึงมาถึงตัวเลือกหน้าปัดและแอพ ส่วนของหน้าปัดนั้นมีตัวเลือกพอควร แต่ความท้าทายก็คือหน้าปัดที่ออกแบบโดยนักพัฒนานั้นมีไม่เยอะนัก และสามารถลงได้ทีละหนึ่งแบบเท่านั้น

สำหรับแอพนั้น มีตัวเลือกอยู่พอประมาณ มีแอพพื้นฐานที่เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพหากันได้อย่าง Strava ส่วนแอพอื่น อาทิ Flipboard, Deezer และแอพเกมอีกหลายตัวให้ลองเล่น ซึ่งดูแล้วทั้งหน้าตาแอพที่ใช้ยาก แถมแอพก็มีจำกัด Fitbit คงต้องออกแรงอีกมากทีเดียวหากจะให้มีแอพหลากหลายกว่านี้

การตั้งค่าแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนมาหาที่ Fitbit Ionic นั้น ต้องกำหนดเป็นรายแอพไป และแอพนั้นต้องส่งคำเตือนมาอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนด้วย ตรงนี้ก็เป็นข้อไม่สะดวกในครั้งแรก แต่ตั้งค่าครั้งเดียวก็จบไป

สุดท้ายซึ่งหลายคนคงอยากทราบ ณ ตอนนี้ที่รีวิว Fitbit Ionic ยังไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทย แต่มีผู้แจ้งคำร้องขอฟีเจอร์กับ Fitbit Community ไปแล้ว ซึ่งคงต้องรอกันไปว่าจะมีอัพเดตออกมาเมื่อใด

สรุป

Fitbit Ionic คือก้าวแรกของ Fitbit ที่มาเป็นสมาร์ทวอทช์เต็มตัว ทำได้มากกว่าแค่ออกกำลังกาย ปรับแต่งหน้าตาได้ตามชอบ ลงแอพเสริมเพิ่มเติมได้ผ่าน Fitbit OS วัสดุการออกแบบสวยและทน อย่างไรก็ตามด้วยราคาจำหน่ายในไทย 11,690 บาท น่าจะทำให้ต้องหยุดคิดอยู่เหมือนกัน เพราะราคานี้ก็เกือบเท่ากับสมาร์ทวอทช์แบรนด์อื่นที่ได้รับความนิยมในตลาดอยู่แล้ว

ข้อดี

  • แบตเตอรี่อึด อยู่ได้ 4-5 วันสบายๆ
  • คุณสมบัติด้านสุขภาพจัดเต็ม และเซ็นเซอร์การตรวจจับทำได้ดีมาก
  • มี GPS ในตัว เชื่อมต่อ Wi-Fi ได้
  • วัสดุดี ทน กันน้ำได้ สายรัดแข็งแรง

ข้อเสีย

  • ราคาค่อนข้างสูง และใกล้เคียงกับสมาร์ทวอทช์อื่นที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว
  • Fitbit OS มี UI ที่ยังชวนงงอยู่บ้าง แต่ใช้ไปสักพักจะชิน
  • มีแอพและหน้าปัดให้เลือกน้อย ต้องให้เวลาสะสมกำลัง
  • ยังไม่รองรับภาษาไทย

Blognone Jobs Premium