ชายคนหนึ่งซื้อรถหรูกะนั่งสบาย แต่นิ้วโป้งต้องมาหายเพราะประตูอัตโนมัติ BMW หนีบขาด

by ตะโร่งโต้ง
26 March 2018 - 19:58

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2016 ควรจะเป็นอีกวันหนึ่งที่ชีวิตประจำวันของ Godwin Boateng วิศวกรซอฟต์แวร์หนุ่มใหญ่ดำเนินไปตามปกติ วันนั้นเขามีนัดกับเพื่อนออกไปใช้เวลาร่วมกันกับรถ BMW X5 ราคา 70,000 เหรียญ คันเก่งของเขา

ถึงแม้ว่าเขาจะพร้อมออกรถแล้วแต่เพื่อนของเขายังต้องใช้เวลาเตรียมตัวอีกสักหน่อย ทว่าการที่ต้องยืนรอเพื่อนไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับ Boateng ถ้าไม่ใช่เพราะความบังเอิญบางอย่างที่เปลี่ยนเหตุการณ์ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

  • บังเอิญที่ Boateng ยืนรอเพื่อนของเขาอยู่ข้างรถ
  • บังเอิญที่เขาแง้มประตูรถด้านคนขับที่เขายืนอยู่เอาไว้นิดนึง
  • บังเอิญอีกที่ Boateng ดันเอามือขวาไปวางพักไว้ตรงเสาประตูรถ
  • บังเอิญที่สุดเมื่อรถ BMW X5 ของ Boateng มีระบบปิดประตูอัตโนมัติที่จู่ๆ ก็ดันทำงานโดยที่เขาไม่ได้ปรารถนา

ผลลัพธ์ของเหล่าความบังเอิญจึงบังเกิดเป็นความเจ็บปวดอย่างที่สุด เมื่อประตูรถ BMW X5 ที่ผู้ผลิตบอกว่าปิดอย่าง "นุ่มนวล" นั้น ทำงานอย่างทรงพลังปิดแน่นไปพร้อมกับการบดขยี้เนื้อ, หนัง, เส้นเลือด, เส้นประสาท, เส้นเอ็น, กล้ามเนื้อ และกระดูกหัวแม่มือของเขาจนขาดสะบั้น

โปรแกรมเที่ยวจบลง Boateng มีอย่างอื่นที่ต้องรีบทำเป็นการด่วน ในหัวของเขาจดจ่อกับการเก็บเศษชิ้นส่วนนิ้วหัวแม่มือที่ขาดออก แช่เย็นกับน้ำแข็ง แล้วบึ่งตรงไปโรงพยาบาลเพื่อขอให้หมอช่วยรักษาต่อนิ้วกลับคืน แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความผิดหวังเมื่อคำตอบจากหมอคือไม่สามารถต่อชิ้นส่วนนิ้วมือนั้นได้

Boateng ในวัย 61 ปี ได้แต่ทำใจยอมรับว่าต้องใช้ชีวิตที่เหลือด้วยนิ้วหัวแม่มือซ้ายแค่ข้างเดียว แม้ว่าหลังการผ่าตัด 2 ครั้ง หัวแม่มือของเขาจะงอกกลับคืนออกมาเล็กน้อยแต่มันก็ไม่เหมือนเดิม เขาต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตโดยสวมนิ้วปลอมบ้างในบางโอกาส

Boateng ทำอะไรกับบาดแผลนิ้วของเขาไม่ได้มาก แต่ในใจก็คิดว่าเรื่องนี้ก็ควรจะมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ว่าแล้วเขาจึงยื่นฟ้อง BMW ผู้ผลิตรถยนต์ที่ตัดนิ้วของเขาจนขาดด้วยประตูรถพลังมอเตอร์ไฟฟ้า

คำฟ้องระบุว่าระบบ SCAD (Soft Closing Automatic Doors) ซึ่งควรจะช่วยปิดประตูรถอย่างนุ่มนวลนั้น มีจุดบกพร่องจากการออกแบบ โดย Avi Cohen ทนายของ Boateng ระบุว่าสิ่งที่ประตูรถทำนั้นเหมือนกับเป็น "กิโยติน" และกล่าวว่า BMW ควรจะออกแบบกลไกด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการปิดประตูหนีบอวัยวะแบบนี้มิให้เกิดขึ้นได้

คำฟ้องยังระบุว่า BMW ในฐานะผู้ผลิตรถนั้นทราบเรื่องเซ็นเซอร์ปิดประตูรถที่อาจทำงานผิดพลาดได้เช่นนี้เมื่อแง้มประตูไว้ แต่กลับไม่แจ้งเตือนลูกค้าหรือทำการแก้ไขจุดบกพร่อง

น่าสนใจติดตามต่อไปว่า BMW จะว่าอย่างไรกับข้อกล่าวหาในคดีนี้? แล้วรถยี่ห้ออื่นๆ จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุลักษณะเดียวกันนี้ได้หรือไม่?

ที่มา - New York Post via Gizmodo

Blognone Jobs Premium