Tarad.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของไทย ประกาศความร่วมมือกับบริษัท TSpace Digital ในเครือของ TCC Group ของเจริญ สิริวัฒนภักดี โดย TSpace เข้ามาถือหุ้น 51% ใน Tarad.com และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของนายภาวุธถือหุ้น 49%
TSpace Digital เป็นบริษัทใหม่ด้านดิจิทัลในเครือ TCC Group โดยมีนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล อดีต CEO ของโออิชิ มาเป็นกรรมการผู้จัดการ
นายมารุต อธิบายว่า TSpace Digital เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตให้กับเครือ TCC Group ทั้งหมด โดยเน้นการลงทุนในบริษัทด้านดิจิทัลในแง่ต่างๆ และเบื้องต้นจะเน้นที่การลงทุนในบริษัทดิจิทัลของคนไทยก่อน
นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง Tarad.com ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นยุคที่สามของ Tarad.com โดยยุคแรกคือยุคก่อตั้ง Tarad.com ส่วนยุคที่สองคือยุคที่อยู่ในเครือ Rakuten ของญี่ปุ่น และยุคที่สามคือยุคที่เข้ามาอยู่ในเครือ TSpace
นายภาวุธ ยอมรับว่าหลังซื้อธุรกิจคืนมาจาก Rakuten ทำให้ Tarad ไม่มีเงินทุนเท่ากับคู่แข่งจากต่างชาติที่เงินหนามาก ซึ่งโมเดล marketplace ในตอนนี้ไม่มีเว็บไซต์ของคนไทยเหลืออยู่แล้ว เพราะโดนคู่แข่งอย่าง Lazada, 11street, Shopee, JD.com เข้ามากวาดตลาดไปหมด ทำให้ต้องมองหาโมเดลใหม่ให้กับตัวเอง
แนวทางที่นายภาวุธมองเห็นคือ ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลาย ทั้งการขายผ่าน marketplace, การขายผ่านโซเชียล และการขายผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง แนวคิดใหม่ของ Tarad จึงเป็นการช่วยเพิ่มพลังให้ผู้ขายสินค้าชาวไทยแข็งแกร่งมากขึ้น
นายภาวุธ บอกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนด้วยเงินส่วนตัวในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีคอมเมิรซ์หลายแห่ง เช่น Siam Outlet, Builk, Skootar, Shippop, Zort, Tixget, Creden.co รวมถึง Thoth Zocial ที่เป็นบริษัทด้าน big data จึงถือโอกาสนี้จัดกลุ่มธุรกิจของตัวเองใหม่
ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Tarad Group คือ 6E ประกอบด้วย 6 ขาที่สร้าง ecosystem ของอีคอมเมิร์ซในไทยอย่างครบวงจร ได้แก่
ความร่วมมือรอบนี้ Tarad.com ซื้อหุ้นทั้งหมดของ Pay Solutions เข้ามา 100% ด้วย ส่วนธุรกิจอื่นข้างต้นก็จะมองหารูปแบบที่เป็นไปได้ต่อไป
นายภาวุธ บอกว่าสมัยอยู่ในเครือ Rakuten ที่เน้นโมเดล marketplace อย่างเดียว ธุรกิจขาดทุนมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถขยายไปธุรกิจอื่นได้เพราะบริษัทแม่เน้น marketplace แต่เมื่อออกจากกลุ่ม Rakuten แล้วและมีโอกาสปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ทำให้ตอนนี้รายได้เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง สะกดคำว่ากำไรเป็นแล้ว
แนวคิดใหม่ของ U-Commerce คือการผลักดันให้ผู้ขายสินค้าใน Tarad ที่มีจำนวนมาก ขยายไปขายสินค้าบน marketplace ที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรม เช่น Lazada, Shopee, JD.com รวมถึงขายผ่านช่องทางโซเชียล โดยมีบริการในเครือ Tarad อย่างการจ่ายเงิน, ลอจิสติกส์, คลังสินค้า คอยสนับสนุน เรียกได้ว่า Tarad เปลี่ยนตัวเองจาก marketplace มาเป็นผู้บริหารระบบสินค้าแทน
ตอนนี้ Tarad.com กำลังเจรจาความร่วมมือกับ Shopee และ 11street เพื่อให้ผู้ค้าบน Tarad.com สามารถกดปุ่มส่งสินค้าไปขายบนทั้งสองแพลตฟอร์มด้วย ส่วนบน Lazada ก็จะอยู่ในก้าวต่อไป
U-Commerce จะเป็นบริการที่ให้ใช้ฟรี และมีโมเดลหารายได้แบบ freemium สำหรับคนที่อยากได้บริการเสริมเพิ่มเติม เช่น ลอจิสติกส์ คลังสินค้า โฆษณา และปลายทางคือการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ big data ส่งต่อไปยังกลุ่ม TSpace Digital ที่จะทำหน้าที่เรื่องวิเคราะห์ข้อมูลให้
สำหรับความร่วมมือกับ TSpace จะเน้นการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจผู้บริโภค และช่วยนำกลุ่ม TCC Group เข้าสู่โลกออนไลน์ พาสินค้าและธุรกิจไทยไปสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางดิจิทัล
นายมารุต บอกว่า TSpace Digital มีทั้งฝั่งการลงทุน และฝั่งธุรกิจ โดยธุรกิจแรกจะเน้นเรื่อง data analytics ให้กับเครือ TCC Group ที่มีข้อมูลมากมาย ส่วนในขั้นถัดไปกำลังพิจารณาทำธุรกิจดิจิทัลอื่นๆ หลากหลายด้าน เช่น ระบบ e-wallet เป็นต้น โดยยังมีอีกหลายดีลในมือที่ยังไม่เปิดเผยตอนนี้
นายมารุตบอกว่าเป้าหมายของ TSpace สามารถลงทุนได้ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ ไม่ปิดโอกาสตัวเองหากมีบริษัทต่างชาติที่น่าสนใจ แต่ช่วงแรกก็ยินดีสนับสนุนบริษัทของคนไทยก่อน
TSpace เพิ่งจดทะเบียนในเดือนมีนาคม 2561 มีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 1 ล้านบาท ตัว TSpace ถือหุ้นโดยบริษัทอเดลฟอร์ซ 100% โดยอเดลฟอร์ซ ถือหุ้นโดยปณต สิริวัฒนภักดี และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี (บุตรชายของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี) คนละ 50%
อเดลฟอร์ซ รับหน้าที่ลงทุนในบริษัทต่างๆ ก่อนหน้านี้เคยลงทุนในกลุ่มอมรินทร์ และ GMM Grammy ในช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง
นายภาวุธ ระบุว่าจะนำเงินลงทุนที่ได้จาก TSpace ไปเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดี คงไม่ใช่เงินไปเผา ไปทำการตลาดอย่างฟุ่มเฟือย
นายมารุต บอกว่าตัวเองมาจากกลุ่ม TCC รู้จักทุกคนในเครือ อนาคตก็มีแผนจะเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ ในเครือด้วย เช่น BigC หรือ BJC แต่ยังไม่ใช่ในตอนนี้ ช่วงนี้ยังทำงานแยกกันอยู่ แต่ระยะยาว TSpace คือหน่วยงานที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดในเครือ TCC