สำนักข่าว The Seattle Times รายงานว่า โรงงานของ Boeing ในเมือง Charleston รัฐ South Carolina ได้ถูกโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
Mike VanderWel หัวหน้าวิศวกรของการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ Boeing ได้ส่งจดหมายด่วนภายในเพื่อให้พนักงานรับทราบและตื่นตัว โดยระบุว่า มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสในโรงงานที่ North Charleston ซึ่งเขาได้ยินว่ามันส่งผลกระทบทำให้เครื่องมือที่ใช้ผลิตเครื่องบิน Boeing 777 ต้องดาวน์ลง และกังวลว่าไวรัสอาจจะมีผลกระทบกับเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบการปฏิบัติการของเครื่องบินที่พร้อมส่งให้ลูกค้า รวมถึงเสี่ยงที่จะแพร่กระจายไปยังซอฟต์แวร์ในเครื่องบินด้วย
หลังจากนั้นในวันพุธช่วงบ่าย Boeing ก็ออกคำแถลงว่า หน่วยงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของ Boeing ได้ตรวจพบการบุกรุกของมัลแวร์ในวงจำกัด และอาจมีผลกับระบบเพียงเล็กน้อย ซึ่งตอนนี้ได้ทำการแก้ไขแล้วจะไม่มีปัญหากับการผลิตหรือการส่งมอบเครื่องบิน
Mitchell Edwards นักวิเคราะห์การคุกคามทางไซเบอร์และข่าวกรองให้ความเห็นว่า แม้สวิตซ์สั่งปิด WannaCry จะถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่แฮกเกอร์คนอื่นก็ยังสามารถพัฒนา WannaCry เวอร์ชันที่ต่างจากเดิมซึ่งวิธีแก้ไขแบบเดิมใช้ไม่ได้ โดยเขาคาดว่าไวรัส WannaCry ที่โจมตี Boeing นี้น่าจะเป็นเวอร์ชันอัพเดต
มัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry นี้ใช้ช่องโหว่ใน Windows เพื่อเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของเหยื่อ และจะทำการเข้ารหัสไฟล์เพื่อเรียกค่าไถ่ ไวรัสนี้แพร่ระบาดอย่างมากในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และแม้ว่า Microsoft จะออกอัพเดตแพทซ์ฉุกเฉินสำหรับ Windows อุดช่องโหว่ EthernalBlue ที่เป็นช่องโหว่สำหรับโจมตีของ WannaCry โดยเฉพาะ แต่ว่าสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในภาคองค์กรนั้นก็ไม่ได้อัพเดตไปด้วย เนื่องจากต้องทดสอบว่าแพทซ์จะไม่มีผลกระทบกับซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน และต้องอัพเดตพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
ที่มา - The Seattle Times
ภาพจาก Boeing