ข่าวคราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Tiangong-1 สถานีอวกาศร้างของจีนที่กำลังค่อยๆ ลดวงโคจรเข้าใกล้โลกทุกขณะ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุช่วงเวลาที่ Tiangong-1 จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้แน่ชัดยิ่งขึ้นว่าจะเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ทว่ายังคงไม่อาจระบุตำแหน่งการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้
ทั้งนี้จากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์จาก ESA (European Space Agency) ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ภายในช่วงเวลาตั้งแต่บ่ายวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม ไปจนถึงตอนค่ำของคืนวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม นี้ Tiangong-1 ได้เคลื่อนเข้ามาอยู่ที่ระดับความสูงราว 200 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกแล้ว ตัวสถานีอวกาศร้างนี้กำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหมุนคว้างรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วเชิงมุม 2.2 องศาต่อวินาที (ใช้เวลา 2 นาที 23 วินาทีต่อการหมุน 1 รอบ)
ทั้งนี้กล้องเรดาร์ของสถาบันวิจัยด้านเรดาร์และฟิสิกส์คลื่นความถี่สูง Fraunhofer FHR ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี สามารถบันทึกภาพของ Tiangong -1 ที่หมุนรอบตัวเองได้อย่างชัดเจนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ในขณะที่ผู้คนที่สนใจติดตามข่าวในบางพื้นที่ก็เริ่มจะสามารถมองเห็น Tiangong-1 ด้วยตาเปล่าได้แล้ว โดยปรากฎเป็นเส้นตรงสว่างพาดบนท้องฟ้า ตัวอย่างเช่น ซึ่งผู้่ใช้ Twitter ชื่อ @picayama ได้โพสต์ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นแนวการเคลื่อนที่ของ Tiangong-1 บนท้องฟ้าเมือง Yokosuka ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ 16 ชั่วโมงที่ผ่านมา
สำหรับใครที่ต้องการติดตามสถานการณ์ของ Tiangong-1 แบบใกล้ชิด สามารถเข้าไปดูข้อมูลติดตาม Tiangong-1 แบบสดๆ ได้ทาง SATVIEW หรือ N2YO.com