นักวิจัยแห่ง Tufts University จากประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจิ๋วที่สามารถติดเข้าไปบนฟันของคน ซึ่งเซ็นเซอร์ที่ว่านี้จะตรวจสอบการกินอาหารบางประเภทรวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วย
แผ่นเซ็นเซอร์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีความยาวด้านละประมาณ 2 มิลลิเมตร สามารถตรวจจับกลูโคส, เกลือ และแอลกอฮอล์ได้ มันมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะแนบไปกับพื้นผิวฟันของคนได้ สามารถส่งข้อมูลเรื่องสารอาหารที่มันตรวจจับได้โดยอาศัยคลื่นวิทยุ
โครงสร้างของตัวเซ็นเซอร์นั้นเหมือนหมู 3 ชั้น โดยชั้นตรงกลางที่เปรียบเสมือนมันหมูนั้นคือวัสดุที่ไวต่อสารอาหารหรือสารเคมีบางชนิด เรียกว่าเป็นวัสดุ "bioresponsive" ส่วนชั้นที่เปรียบเสมือนหมูเนื้อแดงและหนังหมูนั้น เป็นชิ้นส่วนตัวนำไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นวงสี่เหลี่ยมสีทองซึ่งทำตัวเป็นเหมือนกับเสาอากาศ
ตัวเซ็นเซอร์นั้นมีคุณสมบัติในการเลือกดูดซับหรือสะท้อนกลับคลื่นวิทยุที่ส่งมาจากอุปกรณ์ควบคุม ในภาวะปกติเซ็นเซอร์จะเลือกสะท้อนคลื่นวิทยุในย่านความถี่หนึ่ง แต่เมื่อหัวใจสำคัญของเซ็นเซอร์ซึ่งก็คือวัสดุ bioresponsive ตรวจพบสารเคมีเฉพาะอย่าง (ตามที่มันถูกออกแบบมาให้ตรวจจับ) มันจะตอบสนองและทำให้ตัวเซ็นเซอร์เปลี่ยนคุณสมบัติการสะท้อนคลื่นวิทยุต่างไปจากเดิม โดยเปลี่ยนไปสะท้อนคลื่นวิทยุในช่วงความถี่ใหม่ที่แตกต่างไปจากภาวะปกติ และดูดกลืนคลื่นในช่วงความถี่ที่มันเคยสะท้อนแต่เดิม
ด้วยหลักการออกแบบเซ็นเซอร์ลักษณะนี้ ทีมวิจัยสามารถออกแบบเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจสอบสารเคมีได้หลากหลายประเภทโดยการเปลี่ยนชนิดของวัสดุ bioresponsive ที่อยู่ในเซ็นเซอร์
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการติดเซ็นเซอร์ลงบนฟันของผู้ใช้นั้นอาจไม่เหมาะสมในการใช้งานจริงมากนัก ทั้งเรื่องความยุ่งยากในการดูแลรักษา รวมทั้งความเสี่ยงที่เซ็นเซอร์อาจจะหลุดลงลำคอของผู้ใช้ แต่หากลองจินตนาการถึงการมีเซ็นเซอร์ลักษณะนี้ติดตั้งไว้กับฟันปลอม หรือติดตั้งคู่ไปกับเหล็กดัดฟัน ก็ดูจะไม่เกินความจริงที่จะพัฒนาเซ็นเซอร์เพื่อให้ใช้งานได้ในเวลาอันใกล้นี้
ทีมวิจัยหวังว่านี่จะเป็นใบเบิกทางสู่การพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมการกินอาหารประเภทต่างๆ ได้ เพราะเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับสารอาหารเฉพาะอย่างและส่งผลการตรวจได้แบบต่อเนื่องตลอดเวลาย่อมทำให้การติดตามพฤติกรรมการกินทำได้แม่นยำกว่าการอาศัยการจำและจดบันทึก
ที่มา - TuftsNow via The Next Web