รายงานอุบัติเหตุชี้ว่าระบบ Autopilot ถูกเปิดใช้งานตอนรถ Tesla X ชนกำแพงจนมีผู้เสียชีวิต

by ตะโร่งโต้ง
31 March 2018 - 08:40

สัปดาห์ก่อนเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อชายคนหนึ่งขับรถ Tesla X ชนกำแพงคอนกรีตจนส่วนหน้าของรถพังยับ ก่อนจะเกิดเพลิงลุกไหม้ เป็นเหตุให้คนขับเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา มีหลายคนสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับระบบ Autopilot ซึ่งเป็นระบบช่วยขับขี่ที่ Tesla พัฒนาหรือไม่

ชายผู้เสียชีวิตชื่อ Walter Huang เป็นวิศวกรของ Apple และเป็นอดีตพนักงานของ EA นั่งอยู่ในรถ Tesla X ตอนที่รถวิ่งเบี่ยงออกจากช่องทางเดินรถพุ่งเข้าชนกำแพงคอนกรีตบนทางด่วนในเขต Mountain View ก่อนจะโดนรถที่วิ่งตามหลังอีก 2 คัน ชนซ้ำเข้าไปอีก จากนั้นรถ Tesla X ก็โดนไฟลุกท่วม ส่งผลให้คนขับบาดเจ็บหนักและเสียชีวิตในท้ายที่สุด

และเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดกับรถ Tesla X ครั้งนี้ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับอุบัติเหตุที่รถยนต์ไร้คนขับของ Uber ชนคนข้ามถนนจนเสียชีวิตในระหว่างการทดสอบรถ สังคมจึงยิ่งพุ่งความสนใจและเกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ว่ามาตรการความปลอดภัยในระบบรถยนต์อัตโนมัติที่หลายบริษัทต่างแข่งขันกันพัฒนาอย่างดุเดือดนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ แรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ Tesla ส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาหุ้นของบริษัทด้วย

เรื่องนี้ไปถึงขั้นที่ NTSB หน่วยงานดูแลความปลอดภัยระบบคมนาคมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาต้องส่งเจ้าหน้าลงมาสืบสวนอุบัติเหตุรถ Tesla X นี้โดยตรง ซึ่งไม่บ่อยนักที่เจ้าหน้าที่จาก NTSB จะมาสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ โดยหน้าที่หลักของ NTSB คือค้นหาความจริงเบื้องหลังการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและนำไปใช้เพื่อการออกมาตรการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต

การสืบสวนอุบัติเหตุดำเนินไปโดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ NTSB รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญของ Tesla เข้ามาร่วมกันทำงาน รายงานการสืบสวนอุบัติเหตุในขั้นต้นจากฝั่ง Tesla กล่าวถึงอุปกรณ์ลดแรงกระแทกเพื่อดูดซับแรงการชน ซึ่งควรจะถูกติดตั้งไว้ข้างกำแพงคอนกรีตที่เกิดเหตุ กลับไม่มีอยู่ในเวลานั้นเพราะโดนถอดออกไปรอการติดตั้งของใหม่ทดแทนหลังจากมีอุบัติเหตุรถชนไปก่อนหน้านั้น

หลังเวลาผ่านไปร่วม 1 สัปดาห์ Tesla ก็รายงานข้อมูลเพิ่มเติม โดยยืนยันว่ารถ Tesla X เปิดการทำงานระบบ Autopilot อยู่จริงในขณะเกิดอุบัติเหตุ ข้อความส่วนหนึ่งของรายงานผ่านบล็อกจาก Tesla มีดังนี้

ในช่วงเวลาก่อนการชน, ซึ่งเกิดขึ้นตอน 9.23 น. วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม, ระบบ Autopilot ถูกใช้งานโดยค่าระยะห่างตามหลังรถคันหน้าในขณะวิ่งแบบ cruise control ถูกตั้งไว้ที่ค่าต่ำสุด ผู้ขับได้รับแจ้งสัญญาณเตือนการวางมือบนพวงมาลัยทั้งแบบสัญญาณแสดงต่อสายตาหลายสัญญาณ และแบบสัญญาณเสียงอีก 1 สัญญาณ โดยสัญญาณเหล่านั้นแสดงขึ้นเมื่อระบบเซ็นเซอร์ตรวจไม่พบมือผู้ขับบนพวงมาลัยในช่วงเวลา 6 วินาทีก่อนการชน ในตอนนั้นผู้ขับมีเวลา 5 วินาทีกับระยะทางเปิดโล่งและอยู่ในทัศนวิสัยอย่างชัดเจน 150 เมตรที่จะสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ทว่าระบบบันทึกข้อมูลของรถแสดงว่าผู้ขับไม่ได้กระทำสิ่งใดเพื่อยับยั้งอุบัติเหตุ

ก่อนหน้านี้ Tesla ยังเผยตัวเลขว่านับตั้งแต่มีระบบ Autopilot ให้ใช้งานในปี 2015 มีผู้ใช้รถ Tesla เดินทางผ่านจุดเกิดเหตุนี้ประมาณ 85,000 ครั้ง เฉพาะปีนี้เองก็มีผู้ใช้ระบบ Autopilot ของ Tesla ขณะเดินทางผ่านจุดนี้ประมาณ 20,000 ครั้ง คิดเป็นวันละ 200 ครั้ง ทั้งหมดนี้ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นอกจากนี้ Tesla ยังได้อ้างอิงข้อมูลสถิติเกี่ยวกับระบบ Autopilot ของตนเองซึ่งรวบรวมโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่าช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุรถชนลง 40% และยังกล่าวถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตว่า สถิติดังกล่าวสำหรับรถของ Tesla ซึ่งมีระบบ Autopilot นั้นเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง ต่อระยะทางวิ่ง 520 ล้านกิโลเมตร น้อยกว่าสถิติเดียวกันของค่าเฉลี่ยรถยนต์ทั่วไปจากผู้ผลิตทุกรายรวมกันที่จะตีเป็นตัวเลขได้ว่ามีผู้เสียชีวิต 1 รายต่อระยะทางรถวิ่ง 140 ล้านกิโลเมตร ถือเป็นสถิติที่ดีกว่ากัน 3.7 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้รายงานจากฝั่ง Tesla จะกล่าวเป็นนัยว่าระบบ Autopilot ไม่น่าจะเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้เพราะมีหลายคนที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับชี้ประเด็นที่ว่าผู้ขับละเลยการใส่ใจขณะขับรถจนทำให้ไม่อาจเลี่ยงอุบัติเหตุได้ ทว่ากลับไม่มีการตอบคำถามหรืออธิบายประเด็นเหล่านี้

  • ระบบเซ็นเซอร์ของ Tesla X คันที่เกิดเหตุนี้ตรวจจับกำแพงคอนกรีตและเส้นแบ่งช่องทางเดินรถได้ตามปกติหรือไม่
  • เหตุใดระบบช่วยขับ Autopilot ของรถคันนี้จึงปล่อยให้รถวิ่งออกนอกแนวที่ควรจะเป็นจนชนกำแพงคอนกรีตได้
  • การที่ระบบเซ็นเซอร์ของรถพบว่าผู้ขับไม่ได้วางมือในตำแหน่งพร้อมควบคุมรถ ควรกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าเพียงส่งสัญญาณเตือนหรือไม่

ทั้งนี้น้องชายของ Huang ผู้เสียชีวิตเล่าว่า พี่ชายได้บ่นให้ตนฟังเรื่องความผิดปกติของรถที่ส่ายเข้าหากำแพงคอนกรีตขณะเปิดใช้งานระบบ Autopilot มาก่อนหน้านี้ โดย Huang เองได้แจ้งตัวแทนจำหน่ายรถ Tesla เกี่ยวกับอาการผิดปกตินี้แล้ว แต่เมื่อมีการตรวจสอบ กลับไม่สามารถจำลองเหตุการณ์ให้อาการผิดปกติเกิดซ้ำได้ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าระบบของรถผิดปกติจริงหรือไม่

นอกเหนือจากประเด็นคำถามถึงความเชื่อถือได้ในระบบ Autopilot ของ Tesla แล้ว อีกคำถามหนึ่งที่ผู้คนคลางแคลงใจกันก็คือ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรงหลังการชนหรือไม่ โดยสายตรวจทางด่วน California มีความเห็นว่าแบตเตอรี่รถยนต์ของ Tesla อาจมีส่วนทำให้เกิดไฟไหม้หนักหลังการชน ทั้งนี้มีคำบอกเล่าจากพยานผู้เห็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งระบุว่าเห็นลูกไฟขนาดใหญ่พุ่งออกมาจากตำแหน่งที่ติดตั้งแบตเตอรี่ในรถยนต์ Tesla X

ด้าน Tesla เองอธิบายว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ Tesla ถูกออกแบบมาโดยคิดเผื่อในกรณีที่ถึงแม้จะมีการลุกไหม้ของแบตเตอรี่หลังการชน แต่ไฟจะค่อยๆ ลุกลามซึ่งผู้ที่อยู่ในรถจะมีเวลามากพอสำหรับการหนีออกจากตัวรถได้ทัน และกล่าวว่าแม้โดยทั่วไปแล้วการเกิดเพลิงลุกไหม้จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลังการชนจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่สำหรับกรณีชนอย่างรุนแรงดังเช่นในเหตุครั้งนี้แล้ว ต่อให้เป็นรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เกิดไฟไหม้ได้ทั้งนั้น โดย Tesla ยังระบุด้วยว่ารถของตนเองมีโอกาสเกิดเพลิงไหม้น้อยกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันทั่วไปถึง 5 เท่า

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการสืบสวนอุบัติเหตุที่ถูกเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการจากฝั่ง NTSB ต้องรอดูว่าทีมสืบสวนจะพบประเด็นอะไรเพิ่มเติมที่จะช่วยนำไปสู่การเสริมมาตรการความปลอดภัยให้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และระบบช่วยขับอัตโนมัติซึ่งจะเกี่ยวพันกับรถยนต์ไร้คนขับในอนาคตบ้าง

ที่มา - Tesla: 1, 2, Engadget: 1, 2

Blognone Jobs Premium