สำนักข่าว CNBC เผย Facebook ทำโครงการวิจัยโดยใช้ข้อมูลบน Facebook กับข้อมูลการแพทย์ เป้าหมายคือเพื่อพัฒนาด้านการรักษาและการดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตามโครงการวิจัยได้หยุดไปเมื่อเดือนที่แล้ว หรือช่วงที่ปัญหาข้อมูลระหว่าง Facebook และ Cambridge Analytica ปะทุขึ้น
หนึ่งในโรงพยาบาลและสถาบันสุขภาพที่ Facebook เข้าไปติดต่อคือ Stanford Medical School และ American College of Cardiology แผนการวิจัยเบื้องต้นคือรวมข้อมูลผู้ใช้ Facebook กับข้อมูลที่สถาบันสุขภาพมีเข้าไว้ด้วยกัน ตัวอย่างข้อมูลของผู้ใช้บน Facebook คือ อายุ การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบนออนไลน์ กับข้อมูลสุขภาพที่แพทย์มีเช่น ประวัติการรักษา พบหมอบ่อยไหม เป็นต้น
นักวิจัยตั้งคำถามว่าข้อมูลบนโซเชียลของผู้ป่วยจะสามารถช่วยพัฒนาการรักษาได้ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่คนเดียว ไม่มีญาติพี่น้อง อาจต้องการการดูแลจากพยาบาลมากกว่าผู้ป่วยคนอื่น
Facebook ระบุว่า อุตสาหกรรมการแพทย์มองเห็นประโยชน์ของการมีญาติพี่น้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมานานแล้ว แต่การวิจัยนี้ช่วยให้แพทย์ได้พัฒนาการรักษาโดยใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามโครงการวิจัยได้หยุดไป เพราะต้องไปทำงานสำคัญด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องข้อมูลผู้ใช้ และวิธีการที่บริษัทต่างๆ ใช้ข้อมูลในบริการและผลิตภัณฑ์ของ Facebook
ในงานวิจัยไม่ได้ระบุถึงความยินยอมของเจ้าของข้อมูล และทางสถาบัน American College of Cardiology ยืนยันว่า Facebook ยังไม่ได้เก็บข้อมูลการแพทย์ของผู้ใช้ใดๆ
ที่มา - Engadget