คิดให้ดีหลังล้างมือเสร็จ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เช็ดดีกว่าอังเครื่องเป่าลมร้อน

by ตะโร่งโต้ง
7 April 2018 - 10:24

คำเตือน: ใครที่กำลังเพลิดเพลินกับอาหารและเครื่องดื่ม อาจพิจารณาเก็บข่าวนี้ไว้อ่านทีหลัง

การล้างมือคือกิจกรรมที่ดีที่ส่งเสริมสุขลักษณะให้กับทุกคนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหลังเสร็จกิจส่วนตัวในห้องน้ำมาหมาดๆ เราล้างมือด้วยสบู่ก็เพื่อชำระเอาสิ่งสกปรกรวมทั้งเชื้อโรคที่อาจเปรอะเปื้อนอยู่ไปให้พ้นจากมือเรา เพื่อที่ว่าหลังจากนั้นหากเราไปหยิบจับฉวยอะไรเข้าปาก เชื้อไม่พึงประสงค์จะได้ไม่ตามลงระบบทางเดินอาหารของเราด้วย ไหนจะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อและสิ่งสกปรกไม่ให้ไปติดกับสิ่งอื่นหรือคนอื่นที่เราไปสัมผัส

แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราอุตส่าห์ล้างมือจนมั่นใจในความอนามัยแล้วก็ดันเอามือนั้นไปรอรับการพ่นเชื้อแบคทีเรียใส่โดยเครื่องเป่าลมร้อน ถึงมือจะแห้งแต่เผลอๆ ก็อาจเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียมากยิ่งกว่าตอนก่อนเข้าห้องน้ำเสียอีก

นักวิจัยจาก University of Connecticut รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เครื่องเป่ามือในห้องน้ำสาธารณะโดยการใช้แผ่นเพลตใส่เจลอาหารเลี้ยงเชื้อจำนวนหลายแผ่นไปวางไว้ในห้องน้ำหลายห้องเป็นเวลา 2 นาที ก่อนจะนำแผ่นเพลตเหล่านั้นกลับมาทำการเพาะเชื้ออีก 18 ชั่วโมง

พวกเขาพบว่ากลุ่มแผ่นเพลตที่ถูกนำไปวางในห้องน้ำที่ไม่มีการใช้งานเครื่องเป่าลมร้อนเลย สามารถเพาะเชื้อจุลินทรีย์ได้โดยเฉลี่ย 6 โคโลนี ในขณะที่แผ่นเพลตอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกนำไปไว้ในห้องน้ำและโดนเครื่องเป่าลมร้อนพ่นลมใส่เป็นเวลา 30 วินาทีด้วย เพาะเชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้ 18-60 โคโลนี โดยบางแผ่นพบเชื้อมากถึง 254 โคโลนี การศึกษาและวิเคราะห์ผลการทดสอบนี้นำมาสู่ข้อสรุปได้ว่ามีเชื้อแบคทีเรียและสปอร์ของมันมากมายอยู่ในเครื่องเป่าลมร้อน และแน่นอนว่าพบในลมที่เครื่องเป่าออกมาด้วย

หากคลางแคลงใจว่าอันที่จริงเชื้อแบคทีเรียที่ไหนก็พบได้ การเกิดและสะสมของเชื้อแบคทีเรียก็ดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วทุกแห่ง แค่ต้องหมั่นทำความสะอาดก็จะพอแล้วล่ะก็ ต้องดูเพิ่มเติมในรายละเอียดลงไปอีกว่า เชื้อแบคทีเรียในห้องน้ำนั้นไม่ได้รวมตัวกันอยู่เฉพาะจุดแบบธรรมดา เพราะงานศึกษาวิจัยอีกงานหนึ่งจาก University of Leeds ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2012 ระบุว่าอากาศภายในห้องน้ำนั้นมีเชื้อแบคทีเรียลอยคว้างอยู่เต็มไปหมด และสิ่งที่ทำให้เชื้อพวกนี้ฟุ้งกระจายในอากาศก็มาจากแรงกระทำของน้ำตอนกดชักโครกนั่นเอง (ใช่แล้ว พอเรากดชักโครก หลายอย่างที่เรามองเห็นถูกกดหายลงไป แต่ความจริงมีอะไรหลายอย่างที่มองไม่เห็นพุ่งสวนขึ้นมาฟุ้งเต็มอากาศไปหมด) ซึ่งการที่มีเชื้อลอยเต็มอากาศ และอาจกล่าวได้ว่ามีเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีคนกดชักโครก นั่นย่อมหมายถึงมีเชื้อที่พร้อมจะให้เครื่องเป่าลมร้อนดูดเข้าไปสะสมในตัวมากยิ่งกว่าในพื้นที่ทั่วไปนอกห้องน้ำมาก

ทีมวิจัยของ University of Connecticut บอกว่าการติดแผ่นกรองที่ได้มาตรฐาน (ตัวอย่างเช่นผ่านการรับรองของ HEPA) ก็พอจะช่วยลดจำนวนเชื้อโรคที่หลุดออกมากับลมที่เครื่องเป่าได้บ้าง แต่แผ่นกรองก็มีอายุการใช้งานของมัน หากลืมเปลี่ยนหรือรอบการเปลี่ยนช้าเกินไป ก็เปล่าประโยชน์ และไม่ใช่ว่านึกอยากจะติดแผ่นกรองเข้าไปในเครื่องเป่าลมร้อนแล้วก็จะติดเข้าไปได้ทุกเครื่อง ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในขณะที่ใช้งานเครื่องเป่าลมร้อนนั้นใช่ว่าลมที่สัมผัสโดนมือจะเป็นลมที่ออกมาจากเครื่องซึ่งผ่านแผ่นกรองเพียงอย่างเดียว การที่ลมซึ่งถูกเป่าออกมาด้วยความเร็วที่อาจสูงถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ย่อมทำให้เกิดแรงดูดที่จะดึงเอาอากาศโดยรอบบริเวณใต้เครื่อง (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ปลอดเชื้อ) ให้ไหลตามมาพ่นใส่มือด้วย

แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราสะอาดขึ้นอีกสักนิดก็ยังดี?

ทีมวิจัยของ University of Connecticut แนะนำให้ใช้กระดาษชำระสำหรับเช็ดมือมาใช้งานแทนเครื่องเป่าลมร้อน ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยก็เองก็เริ่มทยอยนำเอาม้วนกระดาษชำระสำหรับเช็ดมือไปติดตั้งในห้องน้ำ 36 แห่งทั่วบริเวณวิทยาลัยแพทย์ของสถาบัน ส่วนวิธีการที่จะช่วยลดไม่ให้เชื้อแบคทีเรียทั้งหลายออกมาลอยฟุ้งกันเต็มอากาศในห้องน้ำไปหมดนั้น ทีมวิจัยของ University of Leeds บอกว่าการปิดฝาสุขภัณฑ์ก่อนกดชักโครกก็จะพอช่วยได้ แต่แน่นอนที่สุดทั้งหมดต้องมีการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดในห้องน้ำมาร่วมด้วย

ที่มา - Ars Technica, เอกสารงานวิจัยของ University of Connecticut, เอกสารงานวิจัยของ University of Leeds

Blognone Jobs Premium