นักวิจัยระดับแถวหน้าของวงการปัญญาประดิษฐ์กว่า 50 ราย ออกมาประกาศร่วมกันว่าจะเลิกคบค้าสมาคมกับ KAIST มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ หลังจาก KAIST ประกาศความร่วมมือด้านงานวิจัยกับบริษัทเอกชน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้เป็นอาวุธสงคราม
งานนี้เหล่านักวิจัยจาก 30 ประเทศที่มาจากทั่วโลก ประกาศชัดว่าจะไม่ไปเยือน KAIST ทั้งจะไม่ต้อนรับบุคลากรของ KAIST และจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ด้านงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยจากเกาหลีใต้แห่งนี้ ตราบจนกว่าทาง KAIST เองจะล้มเลิกแผนการความร่วมมือวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อการใช้เป็นอาวุธอัตโนมัติ "ที่ปราศจากคนควบคุมการใช้"
โครงการวิจัยของ KAIST ที่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากทั่วสารทิศนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง KAIST กับ Hanwha Systems บริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจหลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นคือการเป็นบริษัทผู้ผลิตระเบิดลูกปรายของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ได้มีการเปิดตัวศูนย์วิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศเป้าหมายงานวิจัยเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ใช้สำหรับการควบคุมและสั่งการยานพาหนะ, ใช้กับระบบนำทางยานดำน้ำแบบไร้คนขับ, ใช้เพื่อฝึกยานบินอัจฉริยะ และใช้กับระบบตรวจหาและติดตามวัตถุ
สำหรับ KAIST เองเคยสร้างชื่อในระดับนานาชาติมาแล้ว อย่างเมื่อปี 2015 ก็เป็นผู้ชนะการประกวดหุ่นยนต์ในการแข่งขัน Robotics Challenge ของ DARPA จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนกังวลว่าองค์ความรู้ที่สถาบันแห่งนี้บ่มเพาะมาจะถูกนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ส่วน Hanwha Systems นั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะอันที่จริงนอกจากการผลิตระเบิดลูกปรายแล้ว ยังมีธุรกิจผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอากาศยาน, ธุรกิจหุ่นยนต์และเครื่องจักรเมคาทรอนิกส์, งานระบบวิเคราะห์วิดีโอและภาพถ่ายด้วยคอมพิวเตอร์, ธุรกิจผลิตอาวุธ รวมทั้งระบบสื่อสาร, ระบบตรวจการณ์และระบบสอดแนมสำหรับงานทหารด้วย
Toby Walsh ศาสตราจารย์จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำในการระดมแนวร่วมประกาศคว่ำบาตร KAIST กล่าวถึงความวิตกที่เป็นสาเหตุในการออกมาประณามสถาบันจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้ว่า
หาก(มัน)ได้รับการพัฒนาขึ้นมา, อาวุธอัตโนมัติ จะ... ทำให้สงครามเกิดรบพุ่งกันไปเร็วยิ่งขึ้น และลุกลามไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อนหน้า พวกมันอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อการร้าย
หลังข่าวการประกาศคว่ำบาตรจากเหล่านักวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ออกไป Sung-Chul Shin ประธานของ KAIST กล่าวแต่เพียงว่ารู้สึกเสียใจที่โดนสังคมนักวิจัยประกาศตัดสัมพันธ์ และกล่าวปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า KAIST ไม่เคยมีแผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้เป็นอาวุธสังหาร โดยนิตยสาร Times Higher Education ได้ถ่ายทอดคำพูดของเขาตอนหนึ่งว่า
เป้าหมายหลักคือพัฒนาอัลกอริทึมสำหรับระบบการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบนำทางแบบไร้คนขับ (และ) ระบบฝึกยานบิน
ทางด้าน Hanwha Systems ก็ออกแถลงการเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองว่า
เป้าหมายคือเพื่อเร่งการวิจัยที่ควบรวมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนี้
ทิ้งท้ายด้วยคำพูดของ Walsh อีกตอนหนึ่งที่ให้แง่คิดที่น่าสนใจ เขาบอกว่ามีหนทางมากมายที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ด้านการทหาร เช่น การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสนามรบ หรือการเก็บกู้กับระเบิด แต่ไม่ใช่เพื่อการสังหารหรือเป็นไปในทางทำลายล้างเช่นนี้
เราไม่ควรปล่อยให้หุ่นยนต์มาตัดสินชี้ชะตาว่าใครควรอยู่ หรือใครควรตาย