การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยนั้นมีกันมาหลายปีแล้ว ทั้งในขั้นงานวิจัย และการใช้งานจริง แต่ที่ผ่านมาทั้งหมดยังต้องทำควบคู่กันไปกับการวิเคราะห์อาการโดยเแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยโดยปัญญาประดิษฐ์นั้นว่ามีความถูกต้องเชื่อถือได้มากเพียงไหน แต่ล่าสุด FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ) ได้รับรองให้สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยอาการป่วยได้โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจทานโดยแพทย์เฉพาะทางแล้ว
การรับรองนี้มีให้สำหรับการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อ IDx-DR เพื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายดวงตาแล้ววินิจฉัยอาการป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งหมายถึงอาการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จนส่งผลให้เส้นเลือดฝอยด้านหลังดวงตาเสียหาย อาจส่งผลให้ถึงตาบอดได้ โดยการทดสอบทางคลินิกที่ผ่านมา ซึ่งใช้ภาพถ่ายดวงตากว่า 900 ภาพ IDx-DR สามารถตรวจพบผู้มีอาการป่วยได้ถูกต้อง 87% และวินิจฉัยว่าไม่ป่วยถูกต้อง 90%
ในการใช้งานจริง แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถ่ายภาพดวงตาของผู้ป่วยด้วยเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา จากนั้นก็อัพโหลดภาพถ่ายเข้าโปรแกรม IDx-DR ซึ่งมันจะเริ่มจากการตรวจสอบคุณภาพของภาพถ่ายก่อนว่าชัดเจนละเอียดเพียงพอที่จะใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคหรือไม่
หากภาพถ่ายใช้การได้ มันก็จะทำการประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้แพทย์หรือพยาบาลสามารถทำงานด้วย IDx-DR ได้โดยไม่ต้องรอจักษุแพทย์มาวิเคราะห์ภาพถ่ายอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เอื้อให้ผู้ป่วยสามารถรับการตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องรอคิวจักษุแพทย์
ในอนาคตเราน่าจะเห็นการรับรองให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยแทนแพทย์แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะหลายครั้งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานนี้ได้ดีกว่าแพทย์ด้วยซ้ำ เช่น การตรวจหาโรคลูคีเมียแบบพิเศษ หรือการคาดการณ์อาการหัวใจวาย หรือการวินิจฉัยโรคปอด เป็นต้น
ที่มา - The Verge