เรื่องบังเอิญดีๆ เมื่อนักวิทย์เผอิญทำแบคทีเรียย่อยพลาสติกกลายพันธุ์แล้วดันย่อยเก่งกว่าเดิม

by ตะโร่งโต้ง
17 April 2018 - 18:28

ปี 2016 โลกเรามีข่าวดีเมื่อมีการค้นพบแบคทีเรียในประเทศญี่ปุ่น ที่มีความพิเศษตรงที่มันสามารถย่อยสลายพลาสติกจำพวก PET ได้ แบคทีเรียนี้ชื่อว่า Ideonella sakaiensis หลายคนคิดว่านี่คือประตูสู่ยุคใหม่ของการกำจัดขยะพลาสติก แต่เบื้องลึกเบื้องหลังว่าอะไรทำให้มันย่อยสลาย PET ได้ ยังคงเป็นสิ่งที่รอการค้นหาคำตอบโดยนักวิทยาศาสตร์

ผ่านมา 2 ปี ทีมนักวิจัยนานาชาติ พยายามศึกษา Ideonella sakaiensis ว่าอะไรทำให้มันสามารถย่อยพลาสติกได้ หนึ่งในกระบวนการที่พวกเขาใช้คือการกระตุ้นเอ็นไซม์ของแบคทีเรียโดยการฉายรังสี X ความเข้มสูง ที่เข้มยิ่งกว่ารังสีจากดวงอาทิตย์ 10 พันล้านเท่า ด้วยหวังจะเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับเอ็นไซม์ของแบคทีเรียมหัศจรรย์นี้ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้คือมันทำให้เอ็นไซม์ที่ว่านี้ย่อยพลาสติกได้ดีขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

เอ็นไซม์กลายพันธุ์นี้ใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการย่อยพลาสติก PET เร็วกว่ากันมากเมื่อเทียบกับการย่อยสลายตามธรรมชาติที่ต้องอาศัยเวลานานนับร้อยปี

ทีมนักวิจัยหวังว่าจะสามารถใช้เอ็นไซม์กลายพันธุ์นี้เพื่อการย่อยสลายพลาสติกอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ ด้วยกระบวนการที่ควบคุมได้ คาดหวังระยะเวลาที่แน่นอนได้ และหวังว่าจะได้ผลลัพธ์การย่อยสลายกลับมาเป็นโมเลกุลสารดั้งเดิมที่ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก ซึ่งอย่างหลังสุดนี้สำคัญมาก เพราะนั่นเท่ากับว่าจะช่วยลดความจำเป็นในการขุดเจาะน้ำมันดิบใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำเม็ดพลาสติกไปได้มากเลยทีเดียว

ที่มา - The Guardian viaEngadget

Blognone Jobs Premium