คดีลิขสิทธิ์ภาพ "ลิงเซลฟี่" ยังคงยืดเยื้ออยู่ โดยมีล่าสุดศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ สัตว์ไม่มีสิทธิ์ในภาพถ่ายหรืองานต่าง ๆ ตามที่ PETA ยื่นอุทธรณ์ มนุษย์เท่านั้นที่สามารถอ้างสิทธิ์ได้
เรื่องลิขสิทธิ์ภาพลิงเซลฟี่ เริ่มต้นเมื่อช่างภาพนาม David Slater ไปเดินป่าในอินโดนีเซียเมื่อปี 2011 และถูกลิงกังดำที่ชื่อว่า Naruto ขโมยกล้องไปกดถ่ายภาพเป็นจำนวนหลายร้อยภาพ ซึ่งมี "ลิงเซลฟี่" อยู่ในนั้นด้วย เมื่อภาพแพร่ไปจนถึง Wikimedia Commons คลังภาพของ Wikipedia ทางชุมชนมีความเห็นว่าภาพถ่ายนี้ถูกกดถ่ายโดยลิงไม่ใช่เจ้าของภาพ David Slater ภาพนี้จึงควรเป็นสมบัติสาธารณะ
ศาลอุทธรณ์ 9th U.S. Circuit Court of Appeals โดยตุลาการ Carlos Bea กล่าวไว้ว่า กฎหมายด้านลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้ระบุให้สัตว์มีสิทธิ์ในผลงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โดยกฎหมายนี้มีผลสำหรับมนุษย์เท่านั้น ถึงแม้ว่า Slater จะตกลงยอมความกับ PETA ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2017 (เนื่องจากแทบหมดตัวเพราะเขาต้องบินจากสหราชอาณาจักรเพื่อมาขึ้นศาลที่ซานฟรานซิสโก) และขอหยุดคดีความ แต่ศาลปฏิเสธคำขอและตัดสินคดีต่อเพื่อให้ผลลัพธ์จากคดีนี้เป็นแบบอย่างของการตัดสินกรณีคล้าย ๆ กันในอนาคต
นอกจากนี้ ศาลยังกล่าวด้วยว่ากรณีของ PETA นั้น แม้ทางองค์กรจะอธิบายว่าสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่เราจะกิน, สวมใส่, ทดลอง, ใช้เพื่อความบันเทิง หรือข่มเหงในรูปแบบต่าง ๆ แต่ PETA ก็ใช้ Naruto เป็นเพื่อนในแบบที่เจ้าตัวไม่รู้เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรไปแล้ว
Jeff Kerr หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ PETA ยืนยันว่า Naruto ควรจะถูกพิจารณาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานและเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่ควรจะถูกปฏิบัติแตกต่างจากผู้สร้างสรรค์คนอื่นเพียงเพราะไม่ใช่มนุษย์
ที่มา - TIME, PetaPixel, เอกสารจากศาล