รัสเซียปล่อย "โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แบบลอยน้ำ" ออกเดินทางท่องทะเลแล้ว

by ตะโร่งโต้ง
1 May 2018 - 06:33

อัพเดต: แก้ไขข้อมูลผิดพลาดจากที่ระบุว่า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำลำแรกของโลก เนื่องจากแท้จริงแล้วก่อนหน้านี้มี MH-1A Sturgis ของกองทัพบกของสหรัฐอเมริกาใช้งานมาก่อนแล้วในช่วงยุค 60-70

เช้าวันเสาร์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ณ St. Petersburg ประเทศรัสเซีย คือช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับทีมงานช่างและวิศวกรหลายร้อยชีวิต พวกเขาได้ปลดปล่อยยักษ์ตนหนึ่งให้ออกเดินทาง มันเป็นยักษ์สีแดงที่ลอยตระหง่านเหนือผิวน้ำมีชื่อว่า Akademik Lomonosov และมันจะถูกทั้งโลกรู้จักในฐานะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้ลำแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์

Akademik Lomonosov คือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่สร้างโดย Rosatom บริษัทผู้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และประกอบธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย โดยชื่อของเรือลำนี้ถูกตั้งตามชื่อของ Mikhail Lomonosov นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียที่มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นผู้ค้นพบชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ และพบกฎการอนุรักษ์มวลของปฏิกิริยาทางเคมี

Akademik Lomonosov มีระวางขับน้ำ 21,000 ตัน ความยาวของมันจากหัวจรดท้าย 144 เมตร และมีความกว้าง 30 เมตร การเคลื่อนที่ต้องอาศัยเรือลากจูง เนื่องจากไม่มีระบบขับเคลื่อนเพื่อเดินทางในตัวเอง ในส่วนของระบบการผลิตไฟนั้นใช้เตาปฏิกรณ์ KLT-40C จำนวน 2 ลูก ซึ่งแต่ละลูกมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 35 MW

หลังเดินทางออกจาก St. Petersburg แล้ว Akademik Lomonosov จะแล่นผ่านทะเล Baltic อ้อมประเทศฟินแลนด์, สวีเดน และนอร์เวย์ ก่อนเบนเข็มมุ่งหน้าไปยังเมือง Murmansk ของรัสเซีย ที่จุดแวะพักนี้มันจะได้รับการเติมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เข้าสู่เตาปฏิกรณ์ ก่อนจะเดินทางไปยังจุดหมายปฏิบัติการคือการทำหน้าที่จ่ายไฟทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าในเมือง Pevek ที่ห่างจาก Murmanks ออกไปทางตะวันออกราว 4,300 กิโลเมตร

Rosatom ระบุว่า Akademik Lomonosov จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละ 50,000 ตัน เมื่อเทียบกับการใช้งานโรงไฟฟ้าเก่า 2 แห่งของ Pevek ในปัจจุบัน ซึ่งโรงหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังผลิต 48 MW อายุกว่า 40 ปี ส่วนอีกโรงคือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุมากกว่า 70 ปี โดยเป้าหมายการเชื่อมต่อ Akademik Lomonosov จ่ายไฟเข้าระบบได้จริงภายในปี 2019

ก่อนหน้าการสร้าง Akademik Lomonosov หลายปี ในช่วงยุค 60 สหรัฐอเมริกาเคยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้มาก่อนแล้ว ชื่อของมันคือ MH-1A Sturgis ถูกสร้างขึ้นในปี 1961 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Army Nuclear Power Program ซึ่งโครงการนี้ได้ยุติไปในปี 1977 แต่งานสร้างของรัสเซียในตอนนี้มีเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าลอยน้ำได้หลายลำเพื่อกระจายออกไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งโดยไม่เกี่ยวกับกิจกรรมของกองทัพ

ในระหว่างนี้ Rosatom กำลังอยู่ในระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้ลำที่ 2 โดยเปลี่ยนมาใช้เตาปฏิกรณ์ RITM-200M จำนวน 2 เตา โดยแต่ละเตามีกำลังการผลิตไฟ 50 MW ซึ่งแม้จะมีกำลังการผลิตไฟที่สูงกว่า Akademik Lomonosov ราว 43% แต่ Rosatom ยืนยันว่าเรือลำที่ 2 นี้จะมีขนาดเล็กกว่า Akademik Lomonosov

ที่มา - Energyworld, Ars Technica

Blognone Jobs Premium