หนึ่งในมือถือที่มาแรงที่สุดในปีนี้ย่อมหนีไม่พ้น Huawei P20 และ P20 Pro ที่ยังคงสานต่อจุดขายเรื่องกล้องด้วยความร่วมมือกับ Leica จนได้คะแนน DxO Mark Mobile ไปถึง 109 คะแนน จัดเป็นมือถือที่กล้องดีที่สุดตามการจัดอันดับของเว็บไซต์ แซงแชมป์เก่าอย่าง Google Pixel 2 ที่ได้ 98 คะแนนไปได้
หลังเปิดตัวมาได้ไม่ถึงเดือน Huawei ได้ส่ง P20 Pro มาให้ทดลองใช้ และออกมาเป็นรีวิวชิ้นนี้ครับ
Huawei P20 Pro มาในบอดี้มันวาวเหมือนกระจก โดยสีที่ได้รับมารีวิวคือสี Twilight บอดี้ส่วนล่างออกสีเขียว ไล่ขึ้นไปเป็นสีม่วง และแน่นอนว่าพื้นผิวแบบนี้เก็บลายนิ้วมือดีมากๆ แต่รู้สึกได้ว่ามีการเคลือบผิวไว้ ทำให้เช็ดออกได้ง่าย
จุดเด่นของ P20 Pro คือมีกล้องด้วยกันถึง 3 ตัว ไล่จากบนสุดคือเลนส์เทเล 8 ล้านพิกเซล ซูมได้ 3 เท่า, ตรงกลางคือกล้องหลักความละเอียด 40 ล้านพิกเซล และล่างสุดที่แยกออกมาเดี่ยวๆ คือกล้องสำหรับถ่ายภาพขาวดำ ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล
อีกหนึ่งเรื่องที่ Huawei ใส่เข้ามาคือเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ 1/1.78 นิ้ว ทำให้ถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดี อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่ากล้องนั้น "ปูด" ออกมามากกว่ามือถือปกติอยู่พอสมควร
จุดขายอีกอย่างของ P20 Pro คือหน้าจอไร้ขอบ โดยจอกินพื้นที่เต็มด้านซ้าย, ขวา และขอบบนได้ใส่ "ติ่ง" เข้ามา ซึ่งเป็นบริเวณของกล้องหน้า, ลำโพง, เซ็นเซอร์วัดระยะสำหรับปิดหน้าจอ และไฟ LED แจ้งเตือน
ขอบขวาของเครื่องมีปุ่มปรับเสียงและปุ่ม Power
ขอบบนมีไมค์ตัดเสียงรบกวนและ IR Blaster สำหรับใช้เป็นรีโมทควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
ขอบล่างทางซ้ายเป็นลำโพง ส่วนด้านขวาเป็นไมโครโฟน และตรงกลางเป็นพอร์ต USB-C ไม่มีแจ็คหูฟัง 3.5 มม. นะครับ แต่มีสายแปลงแถมมาให้ในกล่อง
รวมของที่ให้มาในกล่องมีตัวเครื่อง, สาย USB-A to USB-C, อะแดปเตอร์ SuperCharge จ่ายไฟ 5V 2A, 4.5V 5A หรือ 5V 4.5A, หูฟังทรงเหมือน Apple EarPods แบบใช้พอร์ต USB-C, สายแปลง USB-C เป็น 3.5 มม. และเข็มจิ้มถาดซิม
อันนี้ต้องออกตัวก่อนว่าส่วนตัวผมใช้ Pixel 2 และก่อนหน้านี้ก็ใช้ Pixel 1 และ Nexus 5X ทำให้ชินกับรอมแบบ AOSP หรือที่เรียกกันว่า Pure Android นะครับ ครั้งสุดท้ายที่ใช้มือถือรอมแต่งคือสมัย HTC One M7 นู่นเลย ฟีเจอร์บางอันที่เจอใน P20 Pro อาจมีกันมานานแล้ว หรือมีในมือถือยี่ห้ออื่น ผมอาจจะไม่ทราบ ฉะนั้นสำหรับรีวิวนี้ถ้าผมเจอฟีเจอร์ไหนน่าสนใจก็จะเขียนไว้ครับ
Huawei P20 Pro มาพร้อม Android 8.1.0 ครอบทับด้วย EMUI 8.1.0 การใช้งานโดยรวมถือว่าทำรอมมาได้โอเค มีให้ผู้ใช้ปรับแต่งลูกเล่นได้เยอะ เช่นสามารถเลือกใช้หน้าโฮมแบบมี app drawer หรือไม่ก็ได้ (รอมจีนมักตัด drawer ทิ้ง แล้วเอาไอคอนทุกแอพมากองอยู่หน้าโฮม แบบ iOS) หรือที่ผมชอบมากคือเลือกปิดติ่งได้ โดยขอบจอด้านบนจะกลายเป็นสีดำ กลืนไปกับติ่ง เสมือนเป็นจอสี่เหลี่ยมปกติ แต่ไอคอนแจ้งเตือนยังอยู่ที่เดิม ทำให้การใช้งานไม่รู้สึกรกหูรกตา
อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานทั่วไปผมพบว่า P20 Pro ยังมีอาการกระตุกในบางครั้ง และมากเป็นพิเศษเมื่อใช้งานแอพของกูเกิล เช่นเวลาเลื่อนดูรูปทีละรูปในแอพ Google Photos จะมีกระตุกเวลาเลื่อนรูปเร็วๆ หรือในแอพ Google Maps จะกระตุกตอนเลื่อนแผนที่ไปมาแบบเร็วๆ รวมถึงตอนกดดูข้อมูลของสถานที่ ทั้งนี้ ไม่พบอาการแบบนี้ใน Google Pixel 2 ที่ผมใช้งานอยู่ หากดูรวมๆ ทุกอย่างแล้ว รอมของ P20 Pro ยังลื่นไม่เท่า Pixel 2 ครับ
จากอาการกระตุกบนแอพ Google Photos ดังกล่าว ทำให้ผมต้องใช้แอพ Gallery ที่ติดมากับเครื่องแทน ซึ่งก็ใช้งานได้ลื่นไหลปกติ รวมถึงแอพที่ติดมากับเครื่องทุกแอพ เช่นกล้อง, อีเมล ฯลฯ ก็ใช้งานได้ลื่นเช่นกัน
ในด้านแบตเตอรี่ที่ให้มาถึง 4000 mAh จัดว่าใช้งานได้ทั้งวัน แต่ก็หมดเร็วหากใช้งานติดต่อกันนานหรือใช้งานหนักเช่นถ่ายรูปเยอะๆ แต่ระบบ SuperCharge ก็ช่วยได้มาก โดยผมได้ลองจับเวลาแบบหยาบๆ เริ่มชาร์จตอนแบตเตอรี่เหลือราว 5% จนถึงชาร์จเต็มแบบไม่หยิบมาเล่นเลย ใช้เวลาชาร์จราว 1 ชั่วโมง 20 นาที อย่างไรก็ดี ผมมองว่าผู้ผลิตควรนำมาตรฐานการชาร์จอย่าง USB Power Delivery มาใช้ได้แล้ว
ตัวเลือกอันหนึ่งที่น่าสนใจในหมวดพลังงานคือ Screen resulotion ที่ให้เราเลือกปรับความละเอียดหน้าจอให้ต่ำลงได้เป็น 1493x720 ซึ่งผมลองปรับดูแล้วเห็นความต่างน้อยมาก ต้องจ้องจริงๆ ถึงจะเห็นความหยาบ แต่ก็ไม่ได้ลองเทียบดูว่าจะประหยัดแบตเตอรี่ได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับหน้าจอ OLED ขนาด 6.1 นิ้ว แสดงผลได้สวยงาม แต่ค่าเริ่มต้นจากโรงงานตั้งโหมดสีไว้ที่ Vivid ซึ่งผมว่ามันจัดเกินไปหน่อย พอปรับมาเป็นแบบ Normal คิดว่ากำลังดี นอกจากนี้ยังปรับอุณหภูมิสีได้ตามชอบด้วยว่าชอบโทนเย็นหรืออุ่น อีกทั้งปรับให้เป็นโทนธรรมชาติก็ได้ โดยสีจะออกเหลืองนวลเหมือนกระดาษถนอมสายตา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเล็กๆ กับหูฟัง คือผมลองเอาหัวแปลง USB-C เป็น 3.5 มม. ของ Pixel 2 มาเสียบฟังเพลง ปรากฎว่าเครื่องแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ผ่านการรับรอง แต่ก็ฟังได้ปกตินะครับ
และในช่วงท้ายของการทดลองใช้งาน มือถือแจ้งเตือนขึ้นมาว่ามีอัพเดตซอฟต์แวร์ใหม่ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ได้รู้สิ่งที่ผมว่าเป็นข้อเสียอันใหญ่ นั่นคือ P20 Pro ไม่รองรับ Seamless Updates ที่เพิ่มเข้ามาตอน Android 7.0 Nougat
มือถือที่รองรับฟีเจอร์ Seamless Updates (A/B System Updates) จะแบ่งพาร์ทิชันของพื้นที่เก็บข้อมูลออกเป็นสองพาร์ทิชัน คือ slot A และ slot B สมมติว่าตอนนี้เครื่องรันอยู่จาก slot A เมื่อมีอัพเดตใหม่ออกมาเครื่องจะติดตั้งอัพเดตนั้นใน slot B อย่างเงียบๆ และแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่ออัพเดตเสร็จ ผู้ใช้เพียงแค่รีบูตเครื่อง 1 ทีก็เสร็จสิ้นกระบวนการ โดยการรีบูตนี้ก็เหมือนการรีบูตธรรมดา ไม่ได้กินเวลายาวนานเหมือนการอัพเดตทั่วไป อีกทั้งไม่มีข้อความ Android is Upgrading ที่ต้องรออีกหลายนาทีกว่าจะได้ใช้เครื่อง ซึ่งเบื้องหลังคือการสลับไปบูตจาก slot B แทน
ข้อดีมากๆ ของ Seamless Updates คือความมั่นใจว่าจะอัพเดตผ่านแน่นอน หากอัพเดตที่ดาวน์โหลดมาเกิด corrupt ระหว่างติดตั้ง เครื่องจะกลับมาบูตจาก slot A เหมือนเดิม และผู้ใช้สามารถสั่งอัพเดตใหม่ได้ แต่ในระบบอัพเดตแบบดั้งเดิม หากมีความผิดพลาดระหว่างติดตั้งก็หมายความว่าเครื่องจะเสียไปเลย (brick) หรือกู้ได้แต่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคบ้าง
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า P20 Pro ไม่รองรับ Seamless Updates ทำให้ระหว่างการอัพเดตผมต้องเจอกับหน้าจอ Android is Upgrading ที่ส่วนตัวไม่เจอมานานแล้ว และจะติดอยู่หน้านี้นานมากถ้าเราติดตั้งแอพไว้เยอะ
มาถึงไฮไลท์ของ P20 Pro กันบ้าง นั่นก็คือกล้องนะครับ ต้องบอกว่ากล้องนี่ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ ผมใช้แล้วประทับใจมาก เพราะถ่ายในที่แสงน้อยได้ดีสุดๆ รวมถึงมีโหมดต่างๆ ให้ลองใช้มากมาย (เยอะจนลองได้ไม่ครบ)
หนึ่งในจุดเด่นที่ Huawei ใช้โฆษณากล้องของโทรศัพท์รุ่นนี้คือฟีเจอร์ชื่อ Master AI หลักๆ แล้วมันคือการที่โทรศัพท์สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายนั้นคืออะไร และปรับสีของภาพให้เหมาะสมกับสิ่งนั้น
เช่นเมื่อเราตั้งกล้องถ่ายอาหาร จะมีป๊อปอัพเล็กๆ เด้งขึ้นมาบนหน้าจอว่า Food และภาพที่ได้ก็จะออกโทนอุ่น ดูแล้วน่ากิน หรือถ่ายวิวท้องฟ้าก็จะเด้งมาบอกว่า Blue Sky พร้อมปรับให้สีฟ้าเข้มขึ้น โดยเท่าที่ผมทดลอง มีโหมดเยอะมาก และอาจยังเจอไม่ครบ เพราะไม่สามารถบังคับเปิดโหมดเองได้ ต้องให้กล้องตั้งเองเท่านั้น
รายการโหมดที่เจอ
จากการทดลองใช้อยู่หลายวันพบว่า Master AI สามารถแยกแยะวัตถุได้ดีพอสมควร อีกทั้งทำงานได้เร็วมากจนเกือบจะทันทีที่หันกล้องหาวัตถุนั้น แต่บางคนอาจไม่ชอบที่กล้องมาคิดแทนเรามากเกินไป หรือไม่ชอบที่กล้องแต่งสีมาให้เสร็จก็สามารถเลือกปิดโหมดนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีโหมด Pro ที่เป็นจุดขายมาตั้งแต่รุ่น P9 แล้ว
โหมด Pro เปิดให้เราตั้ง ISO ได้ตั้งแต่ 50 ถึง 3200, ความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 1/4000 วินาที ถึง 30 วินาที, ชดเชยแสงตั้งแต่ -4 ถึง +4, สมดุลแสงขาว (White Balance) และมีให้ตั้งอุณหภูมิแสง หรือค่า K ได้เองด้วย รวมถึงตั้งโหมดวัดแสง (Metering Mode) ได้เหมือนกล้องทั่วไป และโหมดโฟกัส เช่น AF-S, AF-C, MF ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถตั้งค่ารูรับแสงหรือ F ในโหมด Pro ได้ โดยกล้องมีโหมดแยกชื่อ Aperture ให้ใช้ ตั้งได้จาก f/0.95 ถึง f/16 แต่เท่าที่ทดสอบจะเป็นความเบลอหลอกๆ มากกว่า คือใช้ซอฟต์แวร์ปรับชัด-เบลอเอา (แต่ใน EXIF เขียนว่า f/0.95 เฉยเลย ทั้งที่เลนส์มัน f/1.8)
ผมไม่ได้จับภาพหน้าจอของหน้าตาแอพกล้องมามากนัก เราไปดูภาพตัวอย่างเลยดีกว่าครับ บางภาพผมถ่ายเทียบกับ Pixel 2 มาด้วย ให้ดูคำกำกับใต้ภาพนะครับว่าถ่ายด้วยมือถือตัวไหน หากไม่ได้ระบุไว้คือถ่ายด้วย P20 Pro โหมดออโต้ เปิด Master AI ยกเว้นว่าระบุเป็นอย่างอื่น
ผมได้ทดลองซูมเทียบ 1x, 3x, 5x และ 10x มาด้วยครับ
Huawei P20 Pro โฆษณาว่ากันน้ำที่มาตรฐาน IP67 คือกันฝุ่นแบบแน่นหนา และกันน้ำแบบจุ่มได้ลึก 1 เมตร โดยช่วงที่ผมได้เครื่องมาทดสอบเป็นช่วงสงกรานต์พอดี เลยถือโอกาสเอาไปเล่นน้ำด้วยเลย แบบไม่ใส่เคสหรือซองพลาสติกป้องกันใดๆ และหยิบออกมาถ่ายรูปตลอดเวลา
ระหว่างที่ใช้งานแบบเปียก แน่นอนว่าเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไม่สามารถทำงานได้ ผมจึงต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบ Face unlock แทน พร้อมเปิดฟีเจอร์ Pick up to wake เพื่อให้เครื่องตื่นมาสแกนหน้าตอนยกขึ้นมา และโหลด widget สำหรับล็อคหน้าจอมาใช้ เพราะเราไม่ควรกดปุ่มใดๆ เวลาเครื่องเปียกน้ำ
ต่อมาผมได้ไปถ่ายรูปใต้สะพานภูมิพล เชิญรับชมครับ
นอกจากนี้ในโหมด Monochrome ยังมีโหมดย่อยให้เลือกได้อีก 4 โหมดคือ Normal, Aperture, Portrait และ Pro ซึ่งหากเราเลือกโหมด Pro และตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำๆ พร้อมแพนกล้องตามวัตถุเคลื่อนไหวก็จะได้ภาพประมาณนี้
อันนี้ถ่ายปกติ
และยังมีโหมดสนุกๆ อย่าง Light Painting ที่มีโหมดย่อยอีก 4 อันคือ
(โหมดพวกนี้ผมไม่ได้ลองนะครับ แต่แน่นอนว่าต้องใช้ขาตั้ง ถ่ายด้วยมือเปล่าสั่นชัวร์)
วิดีโอ
สำหรับวิดีโอผมถ่ายมานิดหน่อย รับชมได้ครับ
Huawei P20 Pro ถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียด 1080p/30fps, 1080p/60fps และ 4K/30fps มีระบบกันสั่นหรือ stabilizer ตอนถ่ายวิดีโอด้วย แต่มีข้อจำกัดคือทำงานได้แค่ความละเอียด 1080p/30fps เท่านั้น ในขณะที่ Pixel 2 ทำงานได้ถึง 4K เลย
เชิญชมวิดีโอเปรียบเทียบระบบกันสั่นในวิดีโอของ P20 Pro เทียบกับ Pixel 2 ครับ
สุดท้ายผมได้รวบรวมรูปที่ถ่ายด้วย P20 Pro ไว้ในอัลบั้มของ Google Photos แบบไม่ปรับแต่งและไม่ย่อรูปใดๆ เข้าชมได้ที่นี่
Huawei P20 Pro จัดว่าเป็นผลงานที่ดีมากจาก Huawei ในปีนี้ มีการพัฒนาจาก P10 ทั้งดีไซน์, รอม และที่สำคัญที่สุดคือกล้องอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพการประกอบดีเยี่ยม มีเทคนิคการประกอบที่ผมชอบคือไฟแฟลชนั้นฝังลงไปในบอดี้เลย เอานิ้วลูบผ่านคือไม่มีรอยต่อ
รอมก็ทำมาได้ดี ก่อนอัพเดตเจอบั๊กเล็กน้อย แต่พออัพเดตบั๊กนั้นก็หายไป แต่ยังมีอากากรกระตุกอย่างที่เขียนไว้ข้างต้น
ส่วนสิ่งที่ไม่ถูกใจคือรอมยังมี bloatware อยู่บ้างประปราย และระบบชาร์จเร็วเป็นของตัวเอง แม้กระทั่งสายชาร์จก็ต้องใช้สายที่มากับเครื่องถึงจะใช้ SuperCharge ได้ รวมถึงไม่รองรับฟีเจอร์ Seamless Updates ที่มีมาตั้งแต่สมัย Android 7.0 แล้ว และฟีเจอร์กันสั่นของกล้องทำงานได้แค่ความละเอียดวิดีโอ 1080p / 30fps เท่านั้น
นอกจากนี้ผมมองว่าราคาค่อนข้างแพงเกินไป และแม้จะไม่ได้ลองรุ่น P20 ธรรมดา แต่ผมคิดว่าการใช้งานไม่น่าต่างกันมาก กล้องน่าจะยังถ่ายได้ยอดเยี่ยมใกล้เคียงรุ่น Pro ผมเลยขอแนะนำให้มองรุ่นเล็กที่ส่วนตัวคิดว่าคุ้มค่าเงินกว่าเพราะราคาต่างกันตั้ง 8,000 บาทครับ