Grab ประเทศไทยเผยวิสัยทัศน์หลังบริษัท Grab ประกาศเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Uber ในอาเซียน โดยบริษัทระบุว่าจะเดินหน้าสร้าง ecosystem ให้ครบทั้งส่งคน, ส่งของ, ส่งอาหาร รวมถึง E-wallet และมีเป้าหมายจะทำบริการการเงิน ปล่อยกู้เงินได้ ตั้งเป้าคนใช้บริการการเงิน 100 ล้านราย ภายในปี 2020
ด้านการควบรวมกับ Uber Eat ธรินทร์ บอกว่าเครือข่ายร้านอาหารเดิม มีอยู่ประมาณ 3,000 ร้านค้า รวมกับเครือข่ายของ Uber Eats อีก 1,000 เป็น 4,000 ร้านค้า และยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่า Grab Food มีคนขับมากที่สุด (แต่ไม่บอกจำนวนว่าเท่าไร) และจากครั้งแรกที่ทดลองใช้ จนถึงตอนนี้มียอดส่งอาหารโตขึ้น 4.5 เท่า
ธรินทร์ ระบุเพิ่มเติมว่า Grab กำลังขยายพื้นที่ส่งอาหารให้ครอบคลุมทุกที่ในกรุงเทพฯ และขยายพันธมิตรร้านค้าด้วย
ธรินทร์ ระบุว่า ในอนาคตเมื่อผู้ใช้สามารถใช้ Grab Pay ซื้อของได้อย่างไร้รอยต่อแล้ว ขั้นถัดไปก็จะเป็นการบริการการเงินสร้างโอกาสทางธุรกิจให้คนอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร คนขับรถ และผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจได้บนแพลตฟอร์มของ Grab โดยตั้งเป้าจะสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียนได้ 100 ล้านราย ภายในปี 2020
ย้อนกลับไปเดือนมีนาคม Grab สำนักงานใหญ่สิงคโปร์ประกาศเปิดตัว Grab Financial แพลตฟอร์ม FinTech ให้บริการด้านการเงินและประกัน ซึ่งบริการอื่นๆ ของ Grab ที่เกี่ยวกับการเงินอย่าง GrabPay จะถูกรวมอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มนี้ด้วย