เราเริ่มเห็นกูเกิลทำตลาด Android Go มาสักระยะแล้ว (มือถือที่ขายในบ้านเราแล้วคือ Nokia 1) ในงาน Google I/O 2018 ก็มีหัวข้อหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ
Android Go เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ Next Billion Users ของกูเกิล (ชื่อภายในเรียกกันว่า NBU) เน้นเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนา ที่คนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น
ปัญหาคือโทรศัพท์มือถือเหล่านี้มีสเปกค่อนข้างต่ำ จากสถิติของ IDC ในปี 2017 มีมือถือที่วางขายใหม่ประมาณ 24% (หรือ 1/4 ของมือถือทั้งหมด) ที่มีแรม 1GB หรือต่ำกว่านั้น โจทย์ของกูเกิลคือทำอย่างไรจึงจะสร้างประสบการณ์ที่ดีบนมือถือเหล่านี้ได้ คำตอบคือ Android Go นั่นเอง
กูเกิลประเมินว่ามีตลาดของมือถือกลุ่ม Android Go ประมาณ 30-35 ล้านเครื่องต่อปี โดยเฉพาะการขายผ่านโอเปอเรเตอร์ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย มือถือตระกูล Go จะมาแทนมือถือ Android สเปกต่ำราคาถูกที่โอเปอเรเตอร์ขายอยู่แล้ว
หลังจาก Android Go เปิดตัวก็มีพันธมิตรฮาร์ดแวร์ให้ความสนใจมากมาย ตัวอย่างที่คุ้นชื่อกันก็อย่างเช่น Nokia, Lava, Wiko รวมถึงแบรนด์มือถือที่เจาะตลาดเฉพาะบางประเทศ เช่น Micromax ของอินเดีย
สิ่งที่น่าสนใจในหัวข้อนี้คือสถิติจาก Google Play ที่ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อน กูเกิลบอกว่าขนาดของไฟล์ APOK โตขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 30MB
ข้อเสียของ APK ขนาดใหญ่ขึ้นคือคนโหลดน้อยลง อัตรา conversion rate ใน Play Store ลดลงอย่างชัดเจนตามสัดส่วนของขนาดไฟล์ APK ที่ใหญ่ขึ้น เฉลี่ยแล้วทุก 6MB ที่เพิ่มขึ้น จะมีอัตราการดาวน์โหลดลดลง 1%
ยิ่งถ้าดูเฉพาะอุปกรณ์ตลาดล่างที่มีแรม <= 1GB จะเห็นว่าอัตราการดาวน์โหลดสำเร็จ (เส้นสีฟ้า) ต่ำลงจากค่าเฉลี่ยทั่วโลก (เส้นสีส้ม) อีกพอสมควร
ค่ากลาง (median) ของขนาดไฟล์ APK สำหรับอุปกรณ์ที่มีแรม <= 1GB ในประเทศต่างๆ จะเห็นว่าประเทศไทยมีตัวเลขค่อนข้างสูง (สีน้ำเงินเข้ม) ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เป็นสีส้ม ขนาดไฟล์ค่อนไปทางเล็ก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ตัวเลขก็ไม่สูงนักเช่นกัน
พฤติกรรมของผู้ใช้จำนวนมากในการดาวน์โหลดแอพจาก Play Store จึงดูขนาดไฟล์ด้วย ต่อให้เรตติ้งแอพดีแต่ไฟล์ใหญ่ ก็จะเจอปัญหาคนไม่โหลด
คำแนะนำของกูเกิลต่อนักพัฒนาแอพ จึงเป็นการทดสอบแอพของตัวเองบนอุปกรณ์สเปกต่ำให้ดี ทั้งประเด็นของโพรเซสเบื้องหลัง, การอัพเดตพิกัด, การแจ้งเตือน
ขนาดไฟล์ APK ที่เหมาะสมคือไม่เกิน 40MB สำหรับแอพทั่วไป และไม่เกิน 65MB สำหรับเกม ตรงนี้นักพัฒนาสามารถใช้ Android App Bundle ช่วยปรับแต่งขนาดไฟล์ APK ให้เล็กลงได้อีก
ส่วนอัตราการใช้งานแรม ไม่ควรเกิน 50MB สำหรับแอพทั่วไป และไม่เกิน 150MB สำหรับเกม
แอพควรทดสอบกับอุปกรณ์แรม 512MB และรันได้ไม่แครช ไม่ค้าง
ระยะเวลาโหลดแอพไม่ควรเกิน 5 วินาที ถ้านานกว่านี้ผู้ใช้จะไม่รอแล้ว ตรงนี้ใช้ Performance Monitoring ของ Firebase ช่วยได้
แอพของกูเกิลเองมีเวอร์ชัน Go สำหรับอุปกรณ์สเปกต่ำ แต่ Play Store มีเวอร์ชันเดียวใช้ได้ทั่วโลก
แอพ Play Store ในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่า 10MB ด้วยซ้ำ แถมทำงานออฟไลน์ได้บ้างส่วน ต่อให้ไม่มีเน็ตก็ยังเปิดดูข้อมูลบางอย่างได้จากแคช
ใน Play Store Console ยังมีตัวช่วยหลายอย่างในการตรวจสอบปัญหาของแอพ เช่น Android Vitals ที่นักพัฒนาควรใช้กันให้เป็น
รายละเอียดอื่นๆ ดูได้จากคลิปการบรรยาย Build for Android (Go edition): optimize your app for global markets