มือนิ่งไม่แพ้คน หุ่นยนต์แขนกลช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

by ตะโร่งโต้ง
13 May 2018 - 05:53

เรารู้กันดีว่าเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่ทั้งปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยรวมทั้งการรักษาต่างๆ มากแค่ไหน ในส่วนของการใช้หุ่นยนต์นั้นก็อาศัยประสิทธิภาพการเคลื่อนที่อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง เข้ามาช่วยเสริมการปฏิบัติงานหัตถการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะงานศัลยกรรมที่ละเอียดอ่อน แต่ยังไม่เคยมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดบริเวณกระดูกสันหลังมาก่อน จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว

ทีมแพทย์แห่ง Penn (หมายถึง University of Pennsylvania) ได้ประกาศข่าว เรื่องการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Noah Pernikoff โดยใช้หุ่นยนต์แขนกล da Vinci มาช่วยในการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากกระดูกสันหลังได้สำเร็จ

เมื่อปี 2016 ผู้ป่วย Pernikoff ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตอนนั้นเองที่ทีมแพทย์ตรวจพบว่าเขามีเนื้องอกอยู่ตรงกระดูกสันหลัง เป็นโรคมะเร็งที่เรียกว่า chordoma ซึ่งหมายถึงเนื้องอกบริเวณฐานของกระโหลกศีรษะและกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปแล้วเนื้องอกนี้จะค่อยๆ มีขนาดโตขึ้น และอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่แสดงอาการนานหลายปี ซึ่งเนื้องอก chordoma นี้โดยทั่วไปก็ถือว่าเกิดขึ้นน้อยมากแค่ราว 1 ในล้านคนเท่านั้น แต่ในกรณีของ Pernikoff นี้ยิ่งเป็นกรณีที่หายากยิ่งขึ้นไปอีกที่เนื้องอก chordoma เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังข้อ C2 (อยู่บริเวณท้ายทอยด้านหลังช่องปาก) นั่นจึงทำให้ทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาตัดสินใจส่งตัว Pernikoff ไปยัง Penn

Pernikoff เข้ารับการผ่าตัดที่ Penn เพื่อเอาเนื้องอกออกในเดือนสิงหาคมปี 2017 โดยการผ่าตัดนี้กินเวลารวมนานกว่า 20 ชั่วโมง ขั้นตอนการผ่าตัดถูกออกแบบอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยแบ่งการผ่าตัดออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก อย่างแรกคือการใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิกทำผ่าตัดจากด้านหลังต้นคอของ Pernikoff เพื่อตัดกระดูกสันหลังส่วนที่อยู่รอบเนื้องอก จากนั้นเป็นการผ่าตัดเอาเนื้องอกผ่านทางช่องปากของผู้ป่วยออกทางด้านหน้าของร่างกาย และส่วนสุดท้ายของการผ่าตัดนี้คือการซ่อมแซมโครงสร้างกระดูกสันหลังโดยใช้กระดูกจากสะโพกของผู้ป่วยมาแทนที่กระดูกและเนื้องอกที่ถูกตัดนำออกไปจากร่างกาย

แขนกลหุ่นยนต์ da Vinci ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการผ่าตัดขั้นตอนที่ 2 แม้การตัดกระดูกและส่วนเนื้องอกจะถูกทำโดยใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิกในขั้นตอนแรกแล้ว แต่การนำมันออกมาเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนที่สุด การเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจทำให้เส้นประสาทและเนื้อเยื่อต่างๆ เสียหายได้ ความผิดพลาดดังเช่นที่ว่าอาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียประสาทการรับกลิ่น, การเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วน หรืออาจเป็นอัมพาตหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดผ่านช่องปากของผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์นี้เป็นสิ่งที่ Penn ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนงานที่เรียกว่า TORS (ย่อมาจาก TransOral Robotic Surgery) โดยได้รับการเห็นชอบจาก FDA ให้ใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยจริงได้ตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยใช้เพื่อการผ่าตัดช่องปากและลำคอมาก่อนหน้านี้แล้ว และนี้คือการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการใช้มันเพื่อผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ปัจจุบันนี้หลังการผ่าตัด 9 เดือน Pernikoff สามารถกลับมาใช้ชีวิตประกอบอาชีพได้ดังเดิม

ที่มา - Engadget, Penn Medicine News

Blognone Jobs Premium