สืบเนื่องจากหัวข้อ หลุมพรางการตลาดกับการก้าวพ้นกำแพงของความสมเหตุสมผล: กรณี MacBook Pro 17 นิ้ว ของคุณชิตพงษ์ กิตตินราดร นักเขียนจาก Business Week ผมขออนุญาตนำเสนอข้อถกในเรื่องจิตวิทยา แต่เป็นด้าน "ต่อตลาดทั้งตลาด" ไม่ใช่ต่อ "ผู้บริโภค" เพิ่มเติมนะครับ เพราะมีคนพูดในเชิงผู้บริโภคเยอะแล้วในหัวข้อนั้น
ขอยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรม Visual Effects บนหนังฮอลลีวู้ด กลุ่มเดียวก็พอเพื่อความเข้าใจง่าย
คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ใช่น้อย และผมว่าคนกลุ่มนั้นเมื่อเห็น MacBook Pro 17" จะเกิดความรู้สึกอยากได้ขึ้นมาเองด้วยเหตุผลแปลกๆ ที่ว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาอาจมีทุกอย่างในชีวิตสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยมีสำเร็จคือ Mobility การได้ลิ้มลอง "ประสบการณ์ใหม่ๆ" นี่แหละเป็นจุดขายที่อาจระเบิดจากปากต่อปากของเพื่อนร่วมสายอาชีพด้วยกันเอง จนกลายเป็นประสบการณ์มาตรฐานของคนในอาชีพเดียวกันที่จำเป็นต้องลอง (โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องยากๆ อย่างศักยภาพของเครื่องตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะสินค้าตระกูลแมคพยายามให้ความมั่นใจผู้ใช้อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาว่าอย่างน้อยมันก็เสถียรสูงกว่าพีซี)
การเสนอสิ่งที่ "เกินกว่าที่มาตรฐานเคยให้ได้" ไม่ใช่แค่จิตวิทยาที่แอปเปิลพยายามทำมานานแล้วตั้งแต่ไอพอดเครื่องแรก แต่มันคือความพยายามในการก้าวล่วงเข้าไปสู่มหาสมุทรใหม่ๆ ทางการตลาดเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอน มันคือความกังขาเมื่อคู่แข่งได้เห็น แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ มันกลายเป็น "แอปเปิลไปถึงก่อนคนอื่น ก็ได้ขายก่อนคนอื่น" ไปบ่อยครั้งแล้วจากที่เราเห็นกัน
ยิ่งทุกวันนี้กลายเป็นผู้นำเทรนด์ในตลาดกลายๆ ไปแล้ว ผมเชื่อว่า คู่แข่งในตลาด (ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกแอปเปิลแย่งลูกค้าไปเรื่อยๆ) คงไม่มองเป็นเรื่องปรกติ เพราะทุกคนเห็นอยู่ว่าความพยายามของแอปเปิลที่เคยฉุดตัวเองลงมาในตลาดโน้ตบุ๊คด้วยการลดราคามโหฬารจนตัวเองมาอยู่ในระดับเดียวกับตลาด แต่ทำให้ผู้ซื้อรู้จักและเข้าใจตำแหน่งทางการตลาด (Market Position) ที่แตกต่างจากแบรนด์ในระดับเดียวกันได้สำเร็จมาแล้ว ด้วยกลยุทธ์เหล่านั้นทำให้สถานการณ์ของบริษัทดีและเติบโตขึ้นขนาดไหน สำหรับคู่แข่ง ในวันนี้ไม่ว่าแอปเปิลกำลังจะเลือกทำอะไรต่อไป มันย่อมเป็นไปได้ที่จะเปิดตาเราให้สว่างขึ้นได้แน่นอน (อย่างน้อยก็มีทางเลือกแปลกใหม่ให้ เผื่อเราจะก้าวตามไปบ้าง...) หลังจากนั้นเราจึงมักจะได้ยินคนตั้งคำถามบ่อยๆ ว่า จังหวะดีขนาดนี้ ทำไมแอปเปิลยังไม่รีบเข้ามาแย่งตลาด Ultraportable ซึ่งกำลังเตรียมขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเสียทีล่ะ? ผมว่าเรื่องนี้เป็นคำตอบครับ
ผมคิดว่าแอปเปิลแทรกตัวเข้ามาในตลาดโน้ตบุ๊คไม่ใช่เพราะต้องการมาแชร์ตลาดปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างช่องโหว่ทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อกำไรในระยะหนึ่งที่สูงที่สุดให้ได้อีกด้วย (เหมือนเล่นหมากล้อม เมื่อการรบเต็มพื้นที่จนไม่สามารถทำคะแนนได้สูงอีกต่อไปแล้ว ก็ไปเปิดสงครามในที่โล่งที่ใหม่ๆ ทำคะแนนให้มากที่สุดย่อมดีกว่า) ทุกคนวิ่งลงล่างแอปเปิลจะขึ้นบน ก็เพียงเพราะว่ามันเป็นสถานที่ใหม่ที่ยังไม่มีใครไปกันต่างหาก
ซึ่งจุดนี้ น่าจะกลายประเด็นที่ MacBook Pro รุ่นนี้กำลังพยายามแทรกตัวเข้ามาเชื่อไหมครับว่า พอลงไปดูการตัดสินใจของลูกค้าแต่ละคนเข้าจริงๆ มันจะแทบไม่เกี่ยวกับการที่แบตมันเปลี่ยนได้หรือเปลี่ยนไม่ได้เลยสักนิดเดียว
ผมว่าเร็วๆ นี้เราจะเห็นหนึ่งในสองสิ่ง ทางหนึ่งคือแอปเปิลจะได้ตลาดส่วนนี้ไปคนเดียวโดยไม่มีคู่แข่งไปสักพัก อาจจะเพราะไม่กล้า หรือยังไม่สามารถเปิดไลน์ใหม่มาทางนี้ได้ในทันที เพราะกำลังขับเคี่ยวกันในตลาด Ultraportable กำลังวุ่นวายกับการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยๆ ที่กำลังจะเต็มด้วยการเพิ่มไลน์ผลิตและลดราคาแข่งกัน หรืออีกอย่างหนึ่งคือ แบรนด์ที่เหลือเริ่มแบ่งกำลังมาวิจัยโน้ตบุ๊คที่เน้นประสิทธิภาพระดับสูงมากขึ้น เพื่อจับตลาดแบบเดียวกัน (เราอาจคาดคะเนได้โดยการติดตามข่าวบน Blognone ดูกันต่อไปในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ว่าจะมีเรื่องทำนองนี้หรือไม่) ซึ่งถ้าถามผม ฝั่งพีซีมีน้อยแบรนด์นักที่จะกล้าพูดถึงการลงมือทำเครื่อง "เพื่อมืออาชีพจริงๆ (ยกเว้นสาขาเกม)" จากความเชื่อนี้ผมจึงเชื่อในความเป็นไปได้ว่า แอปเปิลจะยังได้ตลาดนี้ในระยะสั้นที่ค่อนข้างยาวต่อไปอีกสักพักทีเดียวอย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนอย่างแอปเปิลก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงมาทำตลาดตรงนี้...ผมก็หวังว่าเขาคงจะทำอย่างนั้น