ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในไทย เราเห็นเอกชนหลายเจ้าเริ่มขยายโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาครัฐเองก็ใช่ว่าจะไม่สนใจเสียทีเดียว อย่างน้อยก็มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มี PEA Volta Platform โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถไร้คนขับ
โครงการ PEA Volta Platform มีแผนจะติดตั้งสถานีทั้งหมด 11 สถานีตามเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ (มีเสร็จไปบ้างแล้ว) แบ่งเป็นที่สำนักงานใหญ่ กฟภ. 1 สถานี, อยุธยา 1 สถานี, หัวหิน 3 สถานี, พัทยา 2 สถานี, โคราช 2 สถานีและนครปฐม 1 สถานี
จากการทดลองขับ BYD e6 ผมตั้งใจขับไปแถวชลบุรี เพื่อทดสอบสถานีชาร์จของเอกชนเจ้าหนึ่ง ซึ่งมีแอปเป็นของตัวเองด้วย ทว่าไปถึงแล้วพบแต่หัวจ่ายไฟแต่ไม่มีสายไฟให้บริการ (ไป 2 ที่เป็นทั้ง 2 ที่) เลยตัดสินใจค้นหาที่อื่นเพิ่มเติม ก่อนจะพบว่ามีของ กฟภ. อยู่บนถนนพัทยาใต้ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สถานีที่พัทยาใต้มีจุดจอดรถได้ 2 คัน มีตู้จ่ายไฟ 1 ตู้ของ ABB มี 3 หัวจ่าย แบ่งเป็นหัว Type 2 กระแสสลับ กำลังไฟ 43 kW (ผมใช้อันนี้ชาร์จ BYD e6), หัวที่ 2 มาตรฐาน CHAdeMO ของรถญี่ปุ่น จ่ายไฟกระแสตรง กำลังไฟ 50 kW และมาตรฐาน CCS ที่รถสหรัฐและเยอรมันใช้ เป็นกระแสตรง กำลังไฟ 50 kW ซึ่งสองหัวหลังจะเป็น Fast Charge
ตอนนี้สถานีชาร์จของ กฟภ. ยังเปิดให้ใช้งานฟรี แค่นำบัตรคีย์การ์ดที่เขาวางเอาไว้ให้แตะที่เครื่อง เลือกหัวชาร์จ เอาหัวชาร์จเสียบเข้าตัวรถ รอให้ตัวรถเชื่อมต่อกับหัวชาร์จ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น โดยหน้าจอจะบอกระยะเวลาและปริมาณไฟที่จ่ายไปให้
แต่เมื่อเปิดใช้บริการจริง เจ้าหน้าที่ กฟภ. พัทยาใต้ระบุว่าจะมีแอปของ PEA Volta ให้ดาวน์โหลดเอาไว้คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็คาดว่าจะคิดราคาที่ราวๆ 4 บาท (หรือถูกกว่า) ต่อกิโลวัตต์ (ส่วนคีย์การ์ดตอนเปิดให้บริการจริงจะเป็นยังไง รับที่ไหน เจ้าหน้าที่ยังไม่มีข้อมูล)
ที่สถานี กฟภ. พัทยาใต้มีที่พักรับรองสำหรับคนที่มาชาร์จไฟให้ด้วย มีแอร์ มีเครื่องดื่ม น้ำ ชากาแฟรับรองให้หมด (เดาว่าที่อื่นก็น่าจะมีให้ด้วย) ขณะที่พัทยาใต้ เจ้าหน้าที่บอกว่ามีคนมาใช้บริการแค่ไม่กี่คนเท่านั้น ตั้งแต่เปิดบริการมา