กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกโอเพนซอร์สในรอบเดือนที่ผ่านมา เมื่อโครงการดังๆ หลายตัวย้ายระบบจัดการซอร์สโค้ดของตัวเองมาใช้ GitLab
โครงการสำคัญที่สุดคือ GNOME ที่ประกาศย้ายโครงการย่อยทั้งหมดกว่า 400 โครงการขึ้น GitLab เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2018
ที่ผ่านมา GNOME มีแผนจะย้ายระบบโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เลือกใช้ cgit จัดการซอร์สโค้ดและ Bugzilla จัดการบั๊ก แต่ระบบเริ่มเก่าและจัดการยาก แถมไม่เป็นมิตรกับนักพัฒนาหน้าใหม่ ทำให้ GNOME มองหาตัวเลือกอื่นมาแทน และสุดท้ายตัดเหลือ 2 ตัวเลือกคือ GitLab กับ Phabricator (รายละเอียด)
เหตุผลสำคัญที่ GNOME เลือก GitLab คือมีระบบจัดการโครงการที่พร้อมทุกอย่างในตัว ตั้งแต่ระบบจัดการซอร์สโค้ด ระบบจัดการบั๊ก โฮสติ้ง แถมระบบจัดการซอร์สโค้ดของ GitLab ยังคล้ายกับ GitHub ที่นักพัฒนามักมีประสบการณ์ใช้งานมาก่อนแล้วด้วย (GitLab เป็นมากกว่า GitHub เพราะมีเครื่องมือด้าน CI/CD ด้วย)
ฝั่งของ GitLab เองก็ปรับนโยบายให้เป็นมิตรกับชาวโอเพนซอร์สมากขึ้นเช่นกัน ก่อนหน้านี้ GitLab บังคับให้นักพัฒนาโอเพนซอร์สต้องปฏิบัติการสัญญาอนุญาต Contributor License Agreement (CLA) ของตัวเอง ทำให้ขัดแย้งกับสัญญาอนุญาตที่นิยมใช้กันในโลกโอเพนซอร์สอยู่แล้ว ภายหลัง GitLab ยกเลิกข้อบังคับ CLA ทำให้เหมาะกับโครงการโอเพนซอร์สมากขึ้น
หลังจาก GNOME ย้ายมาใช้ GitLab ทำให้โครงการโอเพนซอร์สดังๆ อีกหลายตัวตามมาใช้ GitLab ด้วย ได้แก่
การย้ายมาใช้ GitLab ช่วยให้นักพัฒนาหน้าใหม่ๆ เข้าร่วมแก้ไขปรับปรุงซอร์สโค้ดได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถ fork โค้ดออกมาจาก repository แล้วขอ merge request กลับไปได้ทันที ส่วนการแจ้งบั๊กก็ใช้ระบบของ GitLab ที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีด้วย
ที่มา - GitLab