ตามที่เราเรียนกันมา หรือเชื่อกันมา ว่าการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมเกลือแร่ต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากมื้ออาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือมีอาการเจ็บป่วย ทว่าผลการวิจัยศึกษาพบว่ามันอาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล St. Michael's Hospital และ University of Toronto ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน Journal of the American College of Cardiology เมื่อสัปดาห์ก่อน
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่เดิมเทียบกับกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มในอังกฤษตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2012 ถึงเดือนตุลาคมปี 2017 โดยพบว่าการกินวิตามินเม็ดอย่าง วิตามินดี, แคลเซียม, วิตามินซี หรืออาหารเสริมอื่นที่ผสมวิตามินหลากชนิด ไม่มีผลต่อการลดหรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบบหัวใจหลอดเลือด หรืออาการ หัวใจวาย, เส้นเลือดในสมองแตก หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (premature death) ของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลของงานวิจัยนี้
Dr. David Jenkins หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าทีมวิจัยประหลาดใจมากที่ข้อมูลสถิติชี้ว่าอาหารเสริมวิตามินหลากหลายรูปแบบที่มีวางจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีผลช่วยลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามก็ไม่พบว่าอาหารเสริมเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยข้างต้นเช่นเดียวกัน
ผลการศึกษาพบว่าอาหารเสริมจำพวกกรดโฟลิก และอาหารเสริมวิตามินบีที่มีกรดโฟลิก อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบบหัวใจหลอดเลือดและอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้ ในขณะที่สารไนอาซินและสารต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลกระทบเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในระดับน้อยมาก
การศึกษาของงานวิจัยนี้ครอบคลุมอาหารเสริมวิตามินหลายตัว ทั้งวิตามินเอ, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3 (ไนอาซิน), วิตามินบี 6, วิตามินบี 9 (กรดโฟลิก), วิตามินซี, วิตามินดี, วิตามินอี, บีตา-แคโรทีน, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, สังกะสี, แมกนีเซียม และซีลีเนียม ซึ่งอาหารเสริมหลายตัวที่ถูกนำมาประเมินข้อมูลการวิจัย อาจมีวิตามินและเกลือแร่หลายอย่างผสมรวมอยู่ในตัวเดียวกัน
Dr. David Jenkins กล่าวโดยสรุปว่านอกเหนือจากกรดโฟลิกที่มีปรากฏข้อมูลบ่งชี้ว่าช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและอาการเส้นเลือดในสมองแตกอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ระดับสุขภาพของผู้คนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับคุณภาพและสารอาหารที่ได้รับผ่านการรับประทานอาหารจริงเป็นหลัก
"จนถึงขณะนี้, ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมใดที่แสดงให้เราเห็นว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการรับประทานอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพอย่างจริง โดยลดการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป รวมทั้งการรับประทานผัก, ผลไม้ และถั่ว"
ที่มา - MedicalXpress