ชาว Blognone คงคุ้นเคยกับแบรนด์ ThinkPad กันเป็นอย่างดี คงทราบอยู่แล้วว่าในบรรดา ThinkPad ทุกซีรีส์ รุ่นที่เปรียบเสมือน "เรือธง" ที่สุดย่อมหนีไม่พ้นซีรีส์ X1 Carbon ที่เน้นกลุ่มนักธุรกิจ เด่นเรื่องความบางเบา พกพาสะดวก และมีความพรีเมียมไปพร้อมกัน
เมื่อต้นปีนี้ Lenovo อัพเกรด X1 Carbon ตามรอบประจำปี (นับเป็นรุ่นที่หก 6th Generation) และหลังจาก X1 Carbon เริ่มวางขายจริงไม่นาน ทาง Lenovo Thailand ก็ส่งเครื่องมาให้เรารีวิวกัน
Lenovo มีการปรับดีไซน์และบอดี้ของ ThinkPad X1 Carbon ครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว 2017 ในรุ่นที่ห้า 5th Gen ส่วนรุ่นของปี 2018 ที่เรารีวิวกันคราวนี้ ยังใช้บอดี้ตัวเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปรับปรุงเพิ่มเติมดังนี้
สเปกของรุ่นที่ได้มาทดสอบเป็นซีพียู Intel Core i7-8550U พร้อมแรม 8GB และ SSD ขนาด 256GB ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 73,900 บาทครับ
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ X1 Carbon มาโดยตลอดคือ วัสดุที่ใช้เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ที่ยืดหยุ่น ทนทาน แต่มีน้ำหนักเบา ทำให้น้ำหนักรวมของตัวเครื่องอยู่เพียง 1.13 กิโลกรัมเท่านั้น เบาในระดับที่รู้สึกได้เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กระดับใกล้เคียงกันที่หนักประมาณ 1.2-1.3 กิโลกรัม
บอดี้ตัวนี้ที่ X1 Carbon ใช้มาตั้งแต่ปี 2017 มีขนาดโดยรวมเล็กลง ขอบจอค่อนข้างบางโดยเฉพาะด้านข้าง ทำให้สามารถยัดจอภาพขนาด 14" ลงในบอดี้ที่เล็กขนาดนี้ได้
ภาพรวมของดีไซน์ยังคงความเป็น ThinkPad ตระกูล X อย่างครบถ้วน นั่นคือตัวเครื่องเป็นรูปทรงลิ่ม แหลมตรงปลาย ที่ฝาหลังมีคำว่า ThinkPad พร้อมไฟสีแดงตรงตัว i เหมือนเดิม (แต่รอบนี้เปลี่ยนสีตัวอักษรจากเงินเป็นดำ)
ที่ฝาหลังมุมขวาล่างมีโลโก้ของซีรีส์ X1 สีแดงขาว บ่งชี้ว่าชั้นเป็น X1 รุ่นท็อปนะ ไม่ใช่ X รุ่นปกติ แพงกว่ากันเยอะเลย
ในแง่ serviceability ก็ยังคงหลักการเดิมของ ThinkPad คือผู้ใช้สามารถทำเองได้ แค่ไขสกรูที่ด้านใต้เครื่องแล้วเปิดฝาออกมาได้เลย (แต่เครื่องบางระดับ X1 ก็มีของให้เปลี่ยนเองได้น้อยหน่อย)
ในยุคสมัยที่โน้ตบุ๊กแข่งกันเล็ก และโน้ตบุ๊กสายบางเบาเกือบทุกเจ้าหนีไปใช้พอร์ต USB-C กันหมด ถึงแม้จะดูเท่และล้ำสมัย แต่ก็สร้างความลำบากให้ผู้ใช้ในแง่อุปกรณ์เชื่อมต่อมากมาย
ThinkPad X1 Carbon เป็นโน้ตบุ๊กที่ยืนหยัดต้านกระแสนั้น และมอบพอร์ตจำนวนมากให้แก่ผู้ใช้ จนถึงขั้นน่าสงสัยว่าทำได้อย่างไรกับเครื่องที่บางระดับนี้
พอร์ตด้านซ้ายมือของตัวเครื่องประกอบด้วย USB Type-C 2 พอร์ต, Pro Port เฉพาะของ ThinkPad สำหรับเสียบ Dock, USB Type-A 1 พอร์ต และ HDMI ขนาดเต็มไม่ต้องใช้สายแปลงใดๆ อีก 1 พอร์ต
Lenovo Thailand ไม่ได้ให้อุปกรณ์เสริม Docking Station มาด้วย แต่หน้าตาเป็นแบบนี้ครับ (ภาพจากเว็บไซต์ Lenovo) ต้องอธิบายกับแฟนพันธุ์แท้ ThinkPad ว่าใน X1 รุ่นหลังๆ เปลี่ยนการ dock จากช่องเสียบด้านล่าง มาเป็นพอร์ตที่ด้านข้างแทน
พอร์ตด้านขวามือ USB-A ให้อีก 1 พอร์ต พร้อมช่องเสียบหูฟังมาตรฐาน 3.5 มิลลิเมตร
เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าพลิกกลับไปด้านหลังเครื่อง ยังมีช่องใส่ซิมการ์ดและ Micro SD ด้วย (เป็น Micro นะครับไม่ใช่ SD ตัวเต็ม) ต้องใช้เข็มจิ้มออกมาเหมือนกับมือถือรุ่นใหม่ๆ ในยุคนี้
หลายคนอาจสงสัยว่าไม่มีพอร์ตสำหรับเสียบสายชาร์จแบบเฉพาะของ ThinkPad คำตอบก็คือตอนนี้เปลี่ยนเป็นสายชาร์จแบบ USB-C หมดละครับ ข้อดีคือสะดวกกว่าในแง่ยืมสายชาร์จโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นมาใช้งานแทนได้ ส่วนใครที่สะสมสายชาร์จ ThinkPad รุุ่นเก่าๆ เอาไว้ก็คงต้องเสียใจด้วย
คุณภาพของจอภาพเป็นประเด็นที่ ThinkPad ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด (โดยเฉพาะรุ่นราคาถูกที่นำมาขายในไทย ใช้จอคุณภาพไม่ดีนัก) แต่กรณีของ ThinkPad X1 Carbon รอบนี้ต่างออกไป เพราะมาพร้อมกับจอความละเอียด WQHD (2560×1440) ที่คมชัดขึ้นกว่า Full HD มาก (แต่ยังไม่ถึงระดับ 4K ซึ่งในความเห็นผมแล้วก็ไม่จำเป็นนักสำหรับโน้ตบุ๊กขนาด 14" และจับตลาดธุรกิจ ไม่ใช่กราฟิก)
จุดขายของจอตัวนี้คือความสว่างสูงสุด 500 nits ผมลองเปิดในห้องมืดๆ ครั้งแรกนี่แทบจะตาบอดกันเลยทีเดียว เรียกว่าความสว่างไม่ใช่ปัญหา แถมในการใช้งานจริงต้องปรับระดับความสว่างแค่กลางๆ เท่านั้นก็พอ
จอตัวนี้ยังรองรับการแสดงภาพแบบ HDR Dolby Vision ด้วย (ต้องรออัพเดต Windows 10 ให้ซัพพอร์ตด้วย) เรื่องนี้อาจไม่ใช่ฟีเจอร์เด่นที่ใช้บ่อยนัก แต่มีไว้ก็ดีกว่าไม่มีครับ ถือเป็นของที่แถมมา
ต้องบอกว่า X1 Carbon เป็นโน้ตบุ๊กทรงมาตรฐานแบบคลาสสิค ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการทัชหรือการแปลงเป็นแท็บเล็ต จอภาพจะกางได้มากสุดแค่ 180 องศา ราบไปกับพื้นเท่านั้น ถ้าอยากได้มากกว่านี้ต้องไปใช้ X1 Yoga แทนนะครับ
X1 Carbon มาพร้อมกับคีย์บอร์ดที่เป็นเอกลักษณ์และปุ่มแดง TrackPoint ตามมาตรฐานของ ThinkPad ในแง่การใช้งานคงไม่ต่างจาก ThinkPad รุ่นอื่นมากนัก ตัวทัชแพดเป็นแบบแผ่นเดียวคลิกลงไปได้ทั้งอัน ส่วน TrackPoint มีปุ่มคลิกซ้าย-กลาง-ขวาแยกต่างหากอยู่ถัดจากคีย์บอร์ดลงไป
พีซีรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ยืนยันตัวตนด้วย biometric กันบ้างแล้ว สำหรับ ThinkPad X1 Carbon ตัวนี้มาพร้อมทั้งตัวสแกนลายนิ้วมือที่ด้านข้างของทัชแพด และกล้อง IR Camera สำหรับสแกนใบหน้า
คนที่เคยใช้ Windows Hello แบบสแกนหน้าคงรู้ว่ามันดีงามมาก (จนแทบไม่ต้องสแกนนิ้วเลย) การที่ X1 Carbon มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ๆ แบบนี้ถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เป็นอย่างมาก
ภาพรวมของการใช้งาน X1 Carbon (6th Generation) ถือว่าราบรื่นดีไม่มีปัญหาอะไร คีย์บอร์ดของ ThinkPad ทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น หน้าจอที่คมชัดและสว่าง พอร์ตเชื่อมต่อครบถ้วนไม่ต้องเสียบอะไรเพิ่ม ประสิทธิภาพของซีพียู Core 8th Gen ที่รองรับงานทั่วๆ ไปได้ไม่มีปัญหา (เล่นเกมก็พอถูไถเพราะจีพียูเป็น Intel HD 620)
กลุ่มผู้ใช้ X1 Carbon คงไม่สนใจเรื่องประสิทธิภาพเป็นตัวเลขมากนัก แต่ไหนๆ รีวิวแล้ว ผมเลยลองวัดเบนช์มาร์คของ PCMark มาไว้ด้วย ได้ 4,656 คะแนน รายละเอียดดูได้ตามลิงก์ เรื่องแบตเตอรี่ไม่ได้วัดผลเบนช์มาร์คมาตรงๆ แต่ก็ยาวนานสำหรับเอาไปทำงานตอนเช้า เอากลับมาตอนเย็นโดยไม่ต้องเอาสายชาร์จไปด้วย
ข้อเสียเดียวของ X1 Carbon ที่นึกออกคงมีแค่เรื่องราคาเท่านั้น ถ้ามีกำลังจ่าย ก็รับรองว่าได้ของดีกลับไปครับ
ข้อดี
ข้อเสีย