ลองจับ ROG Phone สมาร์ทโฟนเกมมิงที่แรงที่สุดตอนนี้ พร้อมอุปกรณ์เสริมจัดเต็ม

by nismod
8 June 2018 - 14:15

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายๆ คนน่าจะเริ่มรู้สึกกันได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสมาร์ทโฟนในแต่ละปีเริ่มไม่แตกต่างกันมาก เรียกได้ว่าการพัฒนาสมาร์ทโฟนเริ่มจะถึงทางตัน

ขณะที่ทางฝั่งเกมมิ่งทั้งอุปกรณ์ โน้ตบุ๊คไปจนถึงพีซียังคงขายและโตได้เรื่อยๆ ทำให้ ณ ตอนนี้มีสมาร์ทโฟนสายเกมมิ่งเปิดตัวมาถึง 3 รุ่น ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไล่ตั้งแต่ Razer Phone, Black Shark ของ Xiaomi และล่าสุดก็ ROG Phone ของ ASUS ซึ่งผมมีโอกาสได้เล่นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งของ ASUS ในงาน Computex 2018 เลยเก็บมาฝากครับ

ตัวเครื่อง

ถึงแม้จะสเปคจะจัดเต็มตามสไตล์อุปกรณ์เกมมิ่ง แต่ตัวเครื่องของ ROG Phone กลับไม่ได้หนาอย่างที่คิด (แต่ก็ไม่ถึงกับบาง) ขนาดพอดีมือสำหรับมือเดียว หน้าจอ ASUS เคลมมาว่าจัดเต็มเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะและไม่มีทางแลคด้วย Refresh Rate ที่ 90Hz Response Time 1ms แพแนลเป็น AMOLED สีสันสดใส ลำโพงเป็นลำโพงคู่ด้านหน้า เหมาะสำหรับทั้งเกมและดูหนังฟังเพลง

ส่วนด้านหลังใช้วัสดุเป็นโลหะเพื่อการระบายความร้อน มีความเงาเลอะลายนิ้วมือง่าย ลำโพงด้านหลังก็มีเช่นกัน อยู่บริเวณแถบสีทองแดงใต้โลโก้

ด้านล่างตัวเครื่องมีมาให้มาครบทั้ง USB-C และ 3.5 มม.

ความพิเศษอยู่ที่ขอบด้านซ้ายของตัวเครื่อง ที่เป็น USB-C ติดกันสองพอร์ท สำหรับต่ออุปกรณ์เสริมโดยเฉพาะ หรือเอาไว้สำหรับต่อสายชาร์จหรือสายหูฟัง USB-C ก็ได้ (ลองเสียบกับ Delta Headset ก็ใช้งานได้) ซึ่งจะค่อนข้างสะดวกและเหมาะสมกับการเล่นเกม ที่ต้องถือเครื่องแนวนอน ทำให้ไม่ต้องมีสายหูฟังหรือสายชาร์จเกะกะที่มือ เวลาถือเล่นเกม

ส่วนอีกด้านของ ROG Phone ไม่ได้มีแค่ปุ่มล็อคหน้าจอกับปรับเสียง แต่มาพร้อม Ultrasonic Sensor สำหรับใช้งานเป็นปุ่มพิเศษ (ประมาณ L1/R1 บนจอยสติ๊ก) เวลาถือมือถือแนวนอน (วงกลมสีแดงในรูป)

ROG Phone มาพร้อมเคสด้วย ก็ค่อนข้างให้ฟีลถึก ทน แต่ก็ไม่หนาเกินไปเมื่อถือบนมือ

ทดสอบเล่นเกม

จากการลองเล่น Free Fire - Battleground เกมแนว Battle Royale บน ROG Phone ก็ค่อนข้างรู้สึกได้ถึงความลื่นไหลของหน้าจอ ไม่มีแลคไม่มีกระตุก ซึ่งเกมลักษณะนี้ยิ่งเครื่องแรงและลื่นก็ยิ่งได้เปรียบ ขณะที่การเปิด X Mode ที่เร่งประสิทธิภาพในการประมวลผลของเครื่อง รู้สึกได้ว่าการเรนเดอร์เร็วขึ้นเล็กน้อย แต่รวมๆ ไม่ได้แตกต่างจากโหมดปกติมากนัก

อุปกรณ์เสริม

  • Aero Active Coole หรือพัดลมระบายความร้อน ซึ่ง ASUS บอกว่าจะแถมมาให้ในกล่อง เชื่อมผ่าน USB-C 2 พอร์ทด้านข้าง ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่าถูกแล้วที่แถม เพราะจากการลองถือเล่นไปซักพักนึง รู้สึกได้ว่าฝาหลังอุ่นๆ และน่าจะร้อนได้มากกว่านี้หากเล่นเปิด X Mode พร้อมชาร์จไปด้วยนานๆ อย่างไรก็ตามรู้สึกว่าตัว Aero Active Cooler จะค่อนข้างเปราะบาง แตกหักง่าย เวลาถอดหรือเสียบกับมือถือ หรือเวลาเก็บอาจจะต้องระวังกันสักหน่อย

ตัวพัดลมของ Aero Active Cooler แอบแรงจนได้ยินเสียงหรือเอามือไปอังก็รู้สึกถึงลมแล้ว ขณะที่โลโก้ ROG ด้านล่างจะส่องแสงด้วยเมื่อเสียบกับมือถือ (เพราะโลโก้หลังมือถือโดนบังและเกมมิ่งเกียร์จะขาดแสง RGB ไม่ได้) ส่วนด้านล่างของ Aero Active Cooler เป็นพอร์ท USB-C และ 3.5 มม.

  • Twin Deck อุปกรณ์เสริมที่ทำให้ ROG Phone กลายเป็น Nintendo 3DS ที่ไม่เปิด 3D ไปกลายๆ เมื่อเสียบมือถือเข้าที่ฝาบน (ซึ่งก็แอบหลวมและไม่ได้ฟิตพอดีกับมือถือมากนัก) หน้าจอด้านล่างจะถูกเปิดขึ้นมา พร้อม Launcher เฉพาะตัวที่ดึงเอาแอปมาจากบน ROG Phone ทำให้เราสามารถเปิด 2 แอปไปได้พร้อมกัน ได้แม้กระทั่งเปิด 2 เกมพร้อมๆ กันด้วยซ้ำ

ตัว Twin Deck มีแบตเตอรีและพัดลมระบายอากาศมาให้ในตัว พร้อมพอร์ท USB-C และ SD Card Reader รวมถึงปุ่มเสริมอย่าง L1/R1 ด้วย

  • Desktop Docking มาท่าเดียวกับ Samsung Dex ก็ว่าได้แต่โจทย์คือเอาไว้เล่นเกมที่เหมาะกับการใช้คีย์บอร์ดและเมาส์อย่างแนว FPS เป็นต้น ขณะที่หากล็อกหน้าจอมือถือ หน้าจอที่ต่อกับ Docking ก็จะดับไปด้วย

พอร์ทด้านหลังของ Docking มาครบทั้ง USB-C สำหรับชาร์จ, USB 3.1 Type A 4 พอร์ท, พอร์ทแลน RJ45, HDMI, DisplayPort, 3.5 มม. สำหรับหูฟังและไมโครโฟนอย่างละ 1 ซึ่งก็คาดว่า DisplayPort เอาไว้สำหรับการแสดงผล Refresh Rate ที่มากกว่า 60Hz สำหรับหน้าจอที่รองรับ

  • GamePad อุปกรณ์เสริมตัวนี้ช่วยให้การเล่นเกมง่ายขึ้นกว่าการกดจากหน้าจอมือถือค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันเมื่อเสียบ GamePad การควบคุมเกมจะถูกย้ายมาควบคุมผ่านปุ่มและลูกกลิ้งแทน อย่าง Asphalt การกดเบรคเพื่อดริฟท์จากด้านซ้ายมือของจอ และกดไนตรัสบริเวณด้านขวามือของจอ จะถูกย้ายมาเป็นปุ่ม X และ B แทนตามลำดับ ส่วนการเร่งเครื่อง จากปกติที่รถจะขับไปให้อัตโนมัติ แต่เมื่อเสียบ GamePad จะต้องกดปุ่ม A ค้างไว้แทน

  • Wi-Fi Docking สำหรับการแคสต์หน้าจอมือถือขึ้นทีวี เชื่อมต่อกับ ROG Phone ผ่าน Wi-Fi 802.11ad ซึ่งการใช้งานจริงลื่นไหลมาก ไม่มีดีเลย์ ไม่มีแลค กดควบคุมจาก GamePad การแสดงผลบนจอทีวีเร็วทันใจเหมือนบนจอสมาร์ทโฟนเองเลย

สรุป

ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจกับ ROG Phone ทั้งในแง่ดีไซน์ ความสวยงาม ประสิทธิภาพ ไปจนถึงอุปกรณ์เสริม ซึ่งเอาเข้าจริงส่วนตัวคิดว่าที่ใช้พอจะใช้งานได้จริงๆ มีแค่ Aero Active Cooler, GamePad และ Wi-Fi Docking เท่านั้น

ส่วนราคาของ ROG Phone ในไทยจากที่สอบถามมาคร่าวๆ และยังไม่มีการเคาะราคาอย่างเป็นทางการ ก็น่าจะอยู่ที่ 30k ขึ้นไป ซึ่งราคานี้พอจะซื้อโน้ตบุ๊คเกมมิ่งตัว Entry ได้เลย เลยยังไม่แน่ใจนักว่าสมาร์ทโฟนเกมมิ่งจะไปได้ไกล เหมือนอุปกรณ์เกมมิ่งหรือโน้ตบุ๊คเกมมิ่งอื่นๆ ได้แค่ไหน แต่ก็อาจตอบโจทย์คนที่ชอบเล่นเกมบนมือถือและมีกำลังทรัพย์ก็ได้ อ้อ ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 1 ในการวางขาย ROG Phone ด้วยนะครับ

ส่วนอุปกรณ์เสริมก็ได้คำยืนยันมาเหมือนกันว่า ASUS จะยังคงพัฒนาให้ ROG Phone รุ่นใหม่ในอนาคตยังคงรองรับอุปกรณ์เสริมชุดนี้ด้วย

Blognone Jobs Premium