งานวิจัย MIT กับการใช้ AI และอุปกรณ์ไร้สายเพื่อให้มองทะลุกำแพงไปเห็นคนได้

by ตะโร่งโต้ง
15 June 2018 - 06:39

ทีมวิจัยห้องปฏิบัติการ CSAIL แห่ง MIT พัฒนาระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกายของคนได้โดยอาศัยอุปกรณ์ไร้สายร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ทำให้สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของบุคคลเป้าหมายได้แม้จะมีกำแพงคอนกรีตขวางกั้นระหว่างอุปกรณ์กับบุคคลนั้น

งานวิจัยนี้มีชื่อว่า "RF-Pose" มีโครงข่ายประสาทเทียมที่เรียนรู้รูปแบบการสะท้อนของคลื่นวิทยุจากร่างกายคนกลับมายังอุปกรณ์รับคลื่นที่อยู่อีกด้านของผนัง ความสามารถในการเรียนรู้และจำแนกรูปแบบของคลื่นสะท้อนสามารถทำให้ระบบ RF-Pose ตรวจจับการเคลื่อนไหวได้แบบสดๆ ต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ใช่เพียงแค่ระบุกว้างๆ ว่าคนเดินไปตรงไหน แต่บอกได้ว่ากำลังขยับแขนและขาอย่างไร กำลังเดิน, ยืน หรือนั่ง หันหน้าไปทางทิศไหน โดยสามารถแสดงผลบนหน้าจอด้วยการใช้เส้นตรงแต่ละสีแทนตำแหน่งของลำตัว, แขน และขาแต่ละข้างของคนที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่อับจากมุมมองสายตาได้

ทีมวิจัยเล็งเห็นการใช้ประโยชน์จาก RF-Pose เพื่อการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในบ้าน หากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุเกิดอาการชักหรือล้มลงในระหว่างการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ระบบจะสามารถตรวจจับและแจ้งเตือนผู้ดูแลอยู่ได้ทันท่วงที

ข้อมูลในระหว่างการทำงานวิจัยพัฒนา RF-Pose นี้ ถูกเก็บโดยระวังเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ร่วมให้ข้อมูล โดยมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบพฤติกรรมท่าทางของใคร ซึ่งทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนา RF-Pose เพื่อการใช้งานจริงโดยยึดพื้นฐานเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน โดยเพิ่มระบบ "กลไกการยินยอม" ซึ่งหมายถึงผู้ใช้จะต้องทำท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะจึงจะถือว่าเป็นสัญญาณอนุญาตให้ RF-Pose เริ่มทำการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ใช้ในช่วงเวลานั้นได้

โอกาสในการประยุกต์ใช้ RF-Pose เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยในการค้นหาและกู้ภัย, หรือปรับใช้กับระบบความบันเทิงอย่างเช่นวิดีโอเกมที่สามารถเดินเล่นไปมาภายในบ้านได้

ที่มา - MIT News, เอกสารงานวิจัย

Blognone Jobs Premium