ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอีกครั้ง เมื่อโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz (คลื่น dtac เดิม) ที่ กสทช. จะจัดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคมนี้
True เป็นค่ายแรกที่ออกตัวไม่ร่วมการประมูล จากนั้นตามด้วย dtac และ AIS ที่ประกาศตัวแบบเดียวกันในวันนี้ (15 มิ.ย.)
หลายคนคงมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น และจากนี้ กสทช. จะทำอย่างไรต่อไป? บทความนี้จะพยายามวิเคราะห์เรื่องนี้ครับ
ต้องย้อนอดีตกันสักนิดว่า การประมูลคลื่น 1800MHz ล็อตนี้ถือเป็นตอนสุดท้ายของไตรภาคโทรคมนาคมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน จากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต เพราะสัญญาสัมปทานชุดเดิมของบรรดาโอเปอเรเตอร์เมื่อ 20-30 ปีก่อน เหลือสัมปทานระหว่าง dtac-CAT ที่จะหมดอายุในปีนี้ (15 กันยายน 2561) ซึ่งหลังจาก กสทช. นำคลื่นย่านนี้มาเข้าระบบใบอนุญาต ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาคสามเกิดจากการประมูลภาคสองในปี 2558 (คลื่น 900MHz เดิมของ AIS และ 1800MHz เดิมของ True) ที่มี JAS เข้ามาเป็นตัวป่วนในการประมูล การแข่งขันครั้งนั้นทำให้ตัวเลขสุดท้ายของการประมูลพุ่งขึ้นไปสูงมากถึงสล็อตละ 4 หมื่นล้านบาท (1800MHz) และ 7.5 หมื่นล้านบาท (900MHz)
ปัญหาเรื่อง JAS ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูล สามาถคลี่คลายลงไปได้หลัง AIS ยอมจ่ายเงินในระดับเดียวกัน และได้คลื่น 900MHz ไปครองตามต้องการ แต่ผลกระทบจากการประมูลครั้งก่อน ยังติดตามต่อเนื่องมายังการประมูลครั้งนี้ เพราะ กสทช. พิจารณาเคาะราคาขั้นต่ำของคลื่น 1800MHz รอบใหม่ (สัมปทาน dtac เดิม) ที่สล็อตละ 15MHz จำนวน 3 สล็อต ราคาเริ่มต้นที่ 37,457 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นราคาระดับเดียวกับราคาสุดท้ายของการประมูล 1800MHz ครั้งก่อน
การประมูลคลื่น 1800MHz และ 900MHz ในปี 2558 จบด้วยราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพราะมีโอเปอเรเตอร์เข้าร่วม 4 ราย มากกว่าจำนวนคลื่นที่เปิดให้ประมูล ผลคือการแข่งขันที่รุนแรงมาก บวกกับบริบทของการประมูลในตอนนั้น ที่ AIS และ True ถูกบีบด้วยสถานการณ์คลื่นไม่พอใช้เพราะสัมปทานเดิมหมดอายุ จึงมีสภาพหลังชนฝา ต้องสู้ให้ชนะเพื่อให้ได้คลื่นมา มิฉะนั้นอาจจะถูกบีบให้ต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเลย (กรณีของ AIS กับคลื่น 900MHz ถือว่าชัดเจนมาก)
อย่างไรก็ตาม หลังการประมูลคลื่นปี 2558 ส่งผลให้ AIS และ True มีคลื่นอยู่ในมือมากพอในระดับหนึ่ง (แถม AIS ยังไปจับมือกับ TOT ใช้คลื่น 2100MHz ของ TOT เพิ่มอีกในภายหลัง) ผู้ที่ตกที่นั่งลำบากจึงมีแค่ dtac เพียงรายเดียวเท่านั้น เพราะคลื่นเก่าใต้สัมปทานเดิมจะหมดอายุในปี 2561 ทุกคนจึงคาดว่าในการประมูลครั้งหน้า dtac จะต้องสู้ยิบตาเพื่อให้ได้คลื่นมา
ข้ามเวลามายังปี 2561 สถานการณ์กลับพลิกผัน เพราะ dtac สามารถเซ็นสัญญาใช้คลื่น 2300MHz ของ TOT ได้ก่อนการประมูลไม่นาน (นับจนถึงวันนี้คือไม่ถึงเดือนเต็มด้วยซ้ำ) ทำให้สภาพการณ์ของ dtac ไม่ถูกบีบคั้นมากนัก และสามารถใช้คลื่น 2100MHz ที่มีอยู่ก่อน บวกกับ 2300MHz ให้บริการลูกค้าไปได้อีกสักระยะหนึ่ง
หมายเหตุ: ถึงแม้ dtac ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องอุปกรณ์ที่รองรับ 2300MHz ที่อาจไม่เยอะเท่าคลื่นย่านอื่น, การวางเสา 2300MHz ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ยังไม่ครอบคลุมพอ, การเปลี่ยนผ่านของลูกค้าที่อยู่ใต้สัมปทานคลื่น 1800MHz เดิม แต่ dtac คงพิจารณาแล้วว่าเป็นปัจจัยที่ไม่อันตรายหรือไม่ส่งผลกระทบแรงมาก เมื่อเทียบกับปัจจัยเรื่องต้นทุนราคาคลื่นรอบใหม่ที่จะต้องจ่ายออกไป
เมื่อสถานการณ์เรื่องคลื่นของโอเปอเรเตอร์เปลี่ยนไป แต่ กสทช. ยังตั้งราคาคลื่นเท่าเดิม จึงไม่น่าแปลกใจนักที่โอเปอเรเตอร์ไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้
อัพเดต: เพิ่มผังคลื่นของโอเปอเรเตอร์ในปัจจุบัน (ภาพจาก dtac)
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ โอเปอเรเตอร์ไม่อยากได้คลื่น 1800MHz เพิ่มงั้นหรือ? ในโลกที่คลื่นความถี่มีจำกัด และการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทุกคนย่อมอยากได้คลื่นเพิ่มอยู่แล้ว
คลื่นย่าน 1800MHz เป็นคลื่นที่พิสูจน์ตัวเองมายาวนาน โทรศัพท์แทบทุกรุ่นในโลกนี้รองรับอยู่แล้ว แต่ขาดเพียง ราคาที่เหมาะสม เท่านั้น
การตั้งราคาคลื่นของ กสทช. โดยเอาราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งก่อนหน้าเป็นที่ตั้ง ย่อมทำให้ราคาคลื่นจะมีแต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันลดลง โอเปอเรเตอร์ย่อมรู้ดีว่าหากไม่หยุดวัฎจักรอันนี้ ในระยะยาวก็จะต้องจ่ายค่าคลื่นแพงเรื่อยๆ เสมอไป
ดังนั้นในจังหวะที่โอเปอเรเตอร์มีคลื่นความถี่ในมือมากพอ ไม่ต้องง้อ กสทช. มากนัก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งสัญญาณ (แรงๆ) กลับไปยัง กสทช. ให้ทบทวนเรื่องราคาคลื่นใหม่อีกครั้ง
กสทช. เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า กรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน แล้วจัดประมูลใหม่อีกครั้ง
ตอนนี้บอลจึงถูกเขี่ยกลับไปยังฝั่ง กสทช. แล้วว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป หาก กสทช. ยอมปรับราคาค่าคลื่นลงมา โอเปอเรเตอร์ก็น่าจะยินดีกลับเข้าร่วมการประมูลใหม่แต่โดยดี (คำถามที่ยังรอคำตอบคือ ราคาที่โอเปอเรเตอร์มองว่า "เหมาะสม" อยู่ที่เท่าไรกันแน่)
แต่ถ้าหาก กสทช. ยังมองว่าราคาคลื่นเท่านี้เหมาะสมแล้ว หรือปรับราคาลงมาไม่มากนัก ก็น่าจะเห็นการประมูลครั้งนี้ถูกยื้อกันไปมาอีกนาน เผลอๆ อาจต้องรอไปถึงบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ (ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร) มาจัดการประมูลด้วยซ้ำ ซึ่งคงกินเวลาเป็นหลักปี