จากกรณีที่ dtac ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800MHz หลังจากนั้นไม่นาน dtac ได้จัดแถลงข่าวเพื่อยืนยันว่าแม้คลื่น 1800MHz หมดสัมปทาน ก็จะไม่กระทบกับลูกค้าแน่นอน
dtac ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีคลื่นความถี่ 2100MHz จำนวน 15 MHz และคลื่น 2300MHz ที่ร่วมมือกับ TOT อีกจำนวน 45MHz รวมทั้งหมด 60MHz (หากไม่นับคลื่น 1800MHz) ทำให้ dtac มีคลื่นมากเพียงพอที่จะให้บริการลูกค้าได้ดีกว่ารายอื่นๆ แม้คลื่น 1800MHz จะหมดสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ ก็มีคลื่น 2300MHz เข้ามาทดแทน
แผนการในปี 2018 จะขยายสถานีฐาน 4G มากกว่า 30,000 แห่ง และขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งาน 4G TDD บนคลื่น 2300MHz อีก 7,000 แห่งภายในปีนี้เช่นกัน พร้อมตั้งเป้าในปี 2019-2020 จะมีสถานีฐานสำหรับ 4G TDD มากกว่า 20,000 แห่ง
สำหรับกรณีไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800MHz ครั้งนี้ dtac มองว่ากฎเกณฑ์ในการประมูลยังไม่มีความเหมาะสม เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แล้วพบว่าราคาการประมูลของไทยแพงกว่าหลายประเทศมาก เป็นรองแค่อินเดีย และ กสทช. ก็ควรทำโร้ดแมปสำหรับคลื่นความถี่ต่างๆ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ได้วางแผนการจัดการคลื่นได้อย่างเหมาะสม
ในส่วนคลื่น 1800MHz ที่ให้บริการสัญญาณ 2G อยู่ด้วยนั้น ทาง dtac ได้ร่วมมือกับ CAT ในการส่งแผนการเยียวยาลูกค้าให้กับทาง กสทช. เมื่อคลื่น 1800MHz หมดสัมปทานลง ซึ่งมั่นใจว่าทาง กสทช. จะออกมาตรการเยียวยาลูกค้า ต่อบริการ 2G เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้า
พร้อมกันนี้ dtac จะออกแพ็กเกจใหม่ๆ และแคมเปญต่างๆ เพื่อโน้มน้าวลูกค้าที่ใช้ 2G บนคลื่น 1800MHz ให้อัพเกรดมาเป็นใช้ 3G/4G บนคลื่น 2100MHz และ 2300MHz ซึ่งได้เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ต้นปี