CTRL-labs สตาร์ทอัพหน้าใหม่ใน New York ได้พัฒนาสายรัดแขนที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถควบคุมใช้คอมพิวเตอร์ได้โดยการใช้เพียงการนึกคิด
ตัวอุปกรณ์สายรัดแขนของ CTRL-labs นี้ยังเป็นเพียงรุ่นต้นแบบ หน้าตาของมันเป็นชิ้นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กหลายชิ้นมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับแถบผ้าที่ใช้เพื่อรัดแขน มันมีขั้วไฟฟ้า 16 ขั้วทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ที่จะตรวจวัดคลื่น EMG (การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ) ซึ่งจะวัดค่าศักย์ไฟฟ้าที่เซลล์กล้ามเนื้อสร้างขึ้น ค่าศักย์ไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อสร้างขึ้นนี้จะเป็นไปตามการกระตุ้นโดยสัญญาณประสาทที่ถูกส่งจากสมองผ่านมาทางเซลล์ประสาท โดยสายรัดแขนของ CTRL-labs จะส่งสัญญาณแบบไร้สายไปยังคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมเพื่อการใช้งานคู่กันเอาไว้
เมื่อสมองของผู้ใช้มีการคิดอะไรที่แตกต่างออกไป สัญญาณคลื่นสมองที่สัมพันธ์กับคลื่นประสาทก็จะส่งผลมาถึงค่าศักย์ไฟฟ้าที่เซลล์กล้ามเนื้อสร้างขึ้น ดังนั้นการตรวจวัดคลื่น EMG จึงสามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงความคิดของผู้ใช้ สิ่งที่ CTRL-labs ต้องทำก็คือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าใจให้ได้ว่ารูปแบบของศักย์ไฟฟ้าที่อุปกรณ์สายรัดแขนตรวจวัดได้นั้น แปลผลตีความได้ว่าผู้ใช้กำลังคิดอะไร
สิ่งสำคัญของการตรวจวัดคลื่น EMG นี้ก็คือ ระบบสามารถตรวจวัดคลื่นได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่ากล้ามเนื้อจะต้องมีการทำงานเคลื่อนไหวจริง สิ่งที่ผู้ใช้ต้องทำก็เพียงแค่คิดแล้วปล่อยให้สัญญาณประสาททำหน้าที่ของมัน ซึ่งในทางเทคนิคแล้วการใช้วิธีนี้มีข้อดีกว่ากว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีควบคุมด้วยคลื่น EEG (คลื่นไฟฟ้าสมอง) ตรงที่ว่าสัญญาณที่ตรวจวัดได้ จะมีสัญญาณรบกวนน้อยกว่า ซึ่งเอื้อให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถตีความแปลผลสัญญาณได้แม่นยำขึ้น
CTRL-labs เปิดโอกาสให้ตัวแทนสื่อหลายรายได้มีโอกาสทดสอบสายรัดแขน ซึ่งก็รวมถึงนักเขียนของ VentureBeat และ The Verge ด้วย พวกเขาได้ลองสวมสายรัดแขนแล้วใช้ความคิดควบคุมเคอร์เซอร์หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งควบคุมการขยับนิ้วมือของโมเดลมือ 3 มิติในคอมพิวเตอร์โดยที่ไม่ต้องขยับนิ้วมือจริงของตนเอง ซึ่งชุดทดสอบโมเดลมือ 3 มิตินี้จะใช้เพื่อการสอบเทียบค่าคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อของผู้ใช้แต่ละคนได้ด้วย
ทาง CTRL-labs ตั้งเป้าในการพัฒนาสายรัดแขนที่สามารถอ่านใจผู้ใช้ได้นี้เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ใช้งานทั่วไป มากกว่าจะพัฒนาเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย เนื่องจาก CTRL-labs เกรงว่ากว่าจะที่ตัวอุปกรณ์จะได้รับการอนุมัติจาก FDA ให้สามารถนำไปใช้งานกับผู้ป่วยได้ก็อาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอนุมัตินานนับปี ดังนั้นพวกเขาจึงมุ่งเป้าหมายหลักในการพัฒนาสายรัดแขนให้เป็นการใช้งานเพื่อความสะดวกและความบันเทิงของผู้ใช้ทั่วไปเป็นอย่างแรก ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดไปถึงการตั้งราคาจำหน่ายอุปกรณ์ในอนาคต
ที่มา - VentureBeat, The Verge