ศูนย์กลางธนาคารกลางออกรายงานวิจารณ์เงินคริปโต ข้อจำกัดยังมาก ความน่าเชื่อถือยังน่าสงสัย

by lew
19 June 2018 - 09:58

Bank of International Settlements (BIS) หรือธนาคารแห่งธนาคารกลาง ที่มีธนาคารกลางของชาติต่างๆ เป็นสมาชิกถึง 60 ชาติ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ออกรายงานเศรษฐกิจประจำปี 2018 โดยยกบทที่ 5 ทั้งบทพูดถึงประเด็นเงินคริปโต โดยวิจารณ์เงินคริปโตเหล่านี้ว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก

รายงานขึ้นต้นด้วยคุณสมบัติของเงินที่ดี เช่น ต้องจ่ายได้โดยสะดวก, มีมูลค่าเสถียร, ระบบการจ่ายเงินรองรับการจับจ่ายที่ขยายตัวตามระบบเศรษฐกิจ, ไปจนถึงการจ่ายต้องสิ้นสุดเมื่อได้รับการยืนยัน

ปัญหาในแง่เทคนิคที่รายงานยกมา เช่น อัตราการใช้พลังงานที่เฉพาะบิตคอยน์ก็ใช้พลังงานเกิน 60 เทราวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ขณะที่อัตราการบันทึกรายการทำได้เพียง 3.3 รายการต่อวินาที และขนาดฐานข้อมูลก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากใช้ distributed ledger เพื่อการจ่ายระดับชาติ ฐานข้อมูลก็จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น สหรัฐฯ หากเริ่มใช้ distributed ledger ตอนนี้ ฐานข้อมูลจะมีขนาดเกิน 100PB ภายในปี 2021

ในแง่การประมวลผล ค่าธรรมเนียมการบันทึกรายการของเงินคริปโตไม่เสถียรและแพงมากในบางสกุล รายการที่ค้างบันทึกก็อาจใช้เวลานานในบางช่วงเวลา

ด้านราคา ตัวมูลค่าเงินคริปโตไม่เสถียรอย่างมากแม้แต่สกุลเงินที่พยายามสร้างขึ้นเพื่อให้เสถียรเช่น BitUSD มีการสร้างเงินสกุลใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

รายงานยังระบุว่าความน่าเชื่อถือของ "ความไร้ศูนย์กลาง" นั้นไม่เป็นจริง เพราะหลายครั้งเหล่าผู้ขุดเงินคริปโตก็สามารถตกลงกันเองเพื่อย้อนกลับบัญชีเงินได้ เช่นเมื่อปี 2013 ที่มีการอัพเดตผิดพลาดทำให้บิตคอนย์แยกเป็นสองสาย เหล่าผู้ขุดบิตคอยน์สามารถพูดคุยกันและยกเลิกรายการโอนเงินที่บันทึกไปแล้วได้

รายงานระบุความเป็นไปได้ที่ชะใช้งานเงินคริปโตอยู่บ้างเช่นการจ่ายเงินข้ามประเทศในวงแคบๆ และระบุถึงความพยายามของธนาคารกลางหลายชาติที่นำ distributed ledger มาทดลอง แม้จะใช้งานได้แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าดีกว่าระบบเดิมอย่างชัดเจนแต่อย่างใด

ที่มา - BIS.org

Blognone Jobs Premium