Adobe พัฒนาปัญญาประดิษฐ์โดยใช้ machine learning ศึกษาภาพจำนวนมากจนสามารถตรวจสอบได้ว่าภาพแต่ละภาพนั้นผ่านการตัดต่อหรือไม่
วิธีที่มันใช้เพื่อการวิเคราะห์เพื่อจำแนกว่าภาพเหล่านั้นมีการตัดต่อหรือไม่ ก็คือการวิเคราะห์ noise ในภาพถ่าย ภาพแต่ละภาพนั้นจะมีรูปแบบลักษณะของ noise ที่แตกต่างกันจนสามารถใช้จำแนกภาพได้ และแม้แต่บริเวณต่างๆ ในภาพเดียวกัน ก็ยังมีรูปแบบของ noise ที่แตกต่างกันด้วย
ปัญญาประดิษฐ์ของ Adobe สามารถตรวจสอบภาพที่ผ่านการตัดต่อได้ 3 แบบ คือการเพิ่มวัตถุเข้าไปในภาพ (splicing), การทำซ้ำวัตถุในภาพ (copy move) และการลบบางสิ่งบางอย่างออกจากภาพ (removal)
ระบบของ Adobe สามารถตรวจหาการเพิ่มวัตถุในภาพถ่ายได้โดยการตรวจสอบว่าพื้นที่ส่วนใดในภาพที่มีรูปแบบของ noise แปลกแยกจากพื้นที่ข้างเคียง หรือในกรณีที่มีการทำซ้ำวัตถุในภาพแล้วเคลื่อนย้ายไปวางตำแหน่งอื่น มันก็จะพบได้เนื่องจากตรวจสอบ noise เจอว่ามีรูปแบบซ้ำกับบริเวณอื่นในภาพ ส่วนการลบบางอย่างออกจากภาพนั้นจะถูกตรวจสอบได้เพราการลงสีหรือวาดขึ้นมาใหม่นั้นจะไม่มี noise ให้เห็น (หากใช้เทคนิคการนำเอาภาพส่วนอื่นมาปิดทับก็จะตรวจเจอได้อยู่ดี)
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดที่เราจะคาดหวังได้จากปัญญาประดิษฐ์ของ Adobe นี้ก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องการตรวจสอบข้อมูลภาพข่าวต่างๆ ว่ามีความถูกต้องจริงแค่ไหน มีการแต่งเติมตัดต่อเพื่อบิดเบือนข้อมูลของข่าวสารหรือไม่ และไม่แน่มันอาจได้รับการนำไปประยุกต์ใช้กับงานนิติวิทยาศาสตร์ได้ด้วย
ที่มา - Adobe Blog, เอกสารงานวิจัย