ครั้งแรกของโลกกับการถ่ายภาพ X-ray ได้เป็นภาพสีแบบ 3 มิติ

by ตะโร่งโต้ง
15 July 2018 - 18:24

ทุกวันนี้เราคงรู้จักการถ่ายภาพด้วยรังสี X กันดี ด้วยประโยชน์ในการช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ถูกบดบังจากสายตา ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพดูสิ่งต่างๆ ภายในร่างกายของคนหรือสัตว์เพื่องานวินิจฉัยทางการแพทย์ หรือการตรวจวัตถุในกระเป๋าสัมภาระต่างๆ ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ภาพที่ถ่ายมาได้ด้วยสีขาว-ดำ ประกอบกับการวิเคราะห์รูปร่างของเงาดำ-ขาวที่ปรากฎในภาพ ทำให้เราเข้าใจว่าเรากำลังมองอะไรที่รังสี X ถ่ายมาได้

แต่เทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยรังสีที่ถูกค้นพบมาเมื่อนานกว่า 120 ปีที่แล้วมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อ MARS Bioimaging บริษัทผู้ผลิตเครื่องสแกนสำหรับการใช้งานด้านการแพทย์จากนิวซีแลนด์ ได้เผยตัวเครื่องสแกนด้วยรังสี X แบบใหม่ ที่ให้ภาพเป็นเชิงปริมาตรและให้สีได้เพื่อการมองเห็นและเข้าใจภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การถ่ายภาพด้วยรังสี X แต่เดิมนั้นอาศัยคุณสมบัติของรังสีซึ่งมีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ด้วยพลังงานของคลื่นที่ว่ามันสามารถพุ่งผ่านเนื้อเยื่อแต่ถูกสกัดกั้นด้วยมวลวัตถุที่มีความหนาแน่นสูง คลื่นรังสี X ส่วนที่ผ่านเนื้อเยื่อไปได้จะไปตกกระทบบนฟิล์มหรือแผ่นเซ็นเซอร์ที่จะทำให้ได้ภาพออกมา แต่สำหรับการสแกนด้วยเครื่องของ Mars Bioimaging นั้นก้าวล้ำไปกว่านั้น โดยอาศัยเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้ในโครงการ CERN พวกเขาได้พัฒนาชิปที่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของความยาวคลื่นของรังสี X ส่วนที่พุ่งผ่านวัตถุมาได้ และใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการวิเคราะห์จนได้ภาพเชิงปริมาตรของวัตถุแต่ละประเภทที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน

กล้ามเนื้อ, เส้นเอ็น, เส้นเลือด, กระดูก, โลหะ สิ่งเหล่านี้ซึ่งมีความหนาแน่นแตกต่างกันจะถูกแยกแยะออกได้ด้วยเทคนิคการสแกนของเครื่องถ่ายรังสี X ของ MARS Bioimaging และเพื่อให้ผู้ที่มองภาพสแกนเข้าใจสิ่งที่อยู่ในภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น ระบบซอฟต์แวร์สามารถกำหนดสีของวัตถุแต่ละอย่างได้

ตัวอย่างภาพสแกนข้อเท้าที่แสดงสีขาวของกระดูก และสีชมพูอมแดงสำหรับเนื้อเยื่อ เป็นตัวอย่างที่อธิบายเรื่องการทำงานนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เครื่องสแกนด้วยรังสี X ของ MARS Bioimaging ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานเพื่อการรักษาคน ตัวอุปกรณ์จำเป็นต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกเสียก่อน แต่นี่ก็เป็นสัญญาณอันดีว่าเทคโนโลยีใหม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาและใกล้จะถูกนำมาใช้งานกับวงการแพทย์ได้แล้วในอีกไม่ช้า

ที่มา - Gizmodo

Blognone Jobs Premium