Windows 7 รุ่นเบต้าหรือที่เรียกกันว่า Build 7000 นั้นหลุดออกมาบน BitTorrent ตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ หลังจากนั้นในงาน CES 2009 ช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอของไมโครซอฟท์ได้ประกาศเปิดตัว Windows 7 รุ่นเบต้าอย่างเป็นทางการ และเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาทดสอบได้
เนื่องจากว่าช่วงนี้ผมยุ่งๆ อยู่เลยเอามาทดสอบช้าไปสักเล็กน้อย รีวิวของเมืองนอกมีให้อ่านเต็มไปหมดแล้ว ในรีวิวอันนี้จึงจะโฟกัสเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Windows 7 เท่านั้น
ขั้นตอนนี้คงไม่ต้องลงรายละเอียดอะไรมากนะครับ เข้าไปที่หน้าของ Windows 7 บนเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ ล็อกอินด้วย Windows Live ID แล้วจะได้คีย์และลิงก์สำหรับดาวน์โหลดมา สำหรับรุ่นเบต้าจะมีเพียง edition เดียวคือ Windows 7 Ultimate ซึ่งไมโครซอฟท์ยังไม่เปิดเผยว่าสุดท้ายในรุ่นจริงจะมีจำนวน edition เหมือน-ต่างกับ Vista อย่างไรบ้าง รุ่นเบต้านี้สามารถใช้งานได้ถึงเดือนสิงหาคม 2009
ไฟล์ ISO มีขนาดประมาณ 2.4GB จะใช้วิธีเขียนลงดีวีดีแล้วลงผ่านเครื่องจริง หรือจะลงผ่าน virtual machine ก็ได้ตามชอบ สเปกเครื่องนั้นใช้ตาม Vista ได้เลยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (ซีพียู 1GHz, แรม 1GB)
ตัวติดตั้งของ Windows 7 นั้นให้ความรู้สึกคล้ายกับตัวติดตั้งของลินุกซ์ดิสโทรต่างๆ มาก นั่นคือมีคำถามไม่เยอะนัก ผ่านหน้าจอเพียง 6-7 หน้าจอแล้วบูตเครื่องใหม่หนึ่งที ก็จะได้ Windows 7 มาใช้งาน มีหน้าตาดังภาพ
ภาพพื้นหลังเป็นรูปปลากัดไทย (ข่าวเก่า)
ก่อนจะเล่าว่า Windows 7 มีอะไรใหม่ ผมขอแยกส่วนต่างๆ ของระบบปฏิบัติการออกมาเป็น 3 ชั้นดังนี้
Windows 7 นั้นพัฒนามาจาก Vista โดยแทบไม่มีเปลี่ยนสำคัญอะไรในส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบเลย ไม่ว่าจะเป็นระบบไดรเวอร์, ระบบเอฟเฟคต์หน้าต่าง Aero, วิธีการรักษาความปลอดภัยด้วย User Account Control ฯลฯ ของใหม่เป็นการสนับสนุนฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม และพัฒนาด้านประสิทธิภาพให้ดีกว่า Vista โดยรีวิวของ PC Pro และ ZDNet (ข่าวเก่า) นั้นบอกว่า Windows 7 เร็วขึ้นกว่า Vista หรือแม้กระทั่ง Windows XP อยู่ประมาณ 10-20% ในการทดสอบบางด้าน แต่โดยรวมสรุปแล้วว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนจาก Vista อย่างสังเกตได้
สำหรับส่วนที่ 3 นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ถอดโปรแกรมคุ้นหน้าคุ้นตาหลายตัวออกจากตัว Windows แล้วจับไปรวมอยู่ในชุด Windows Live Essential ที่ต้องดาวน์โหลดแยกแทน (ข่าวเก่า) โปรแกรมในกลุ่มนี้ได้แก่ Windows Photo Gallery, Windows Movie Maker, Windows Mail, Windows Calendar เป็นต้น ซึ่งถูกแทนที่ด้วยโปรแกรมชื่อเดียวกันแต่มีคำว่า Live เพิ่มมาตรงหลังคำว่า Windows แทน (ยกเว้นโปรแกรม Windows Calendar ที่ถูกรวมเข้ากับ Mail) ในประเด็นนี้ไว้จะพูดถึงอีกครั้งในภายหลัง
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของ Windows 7 คือส่วนที่ 2 ซึ่งใกล้ชิดกับผู้ใช้มากที่สุด แถมคราวนี้ยังเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยด้วย
ใน Vista นั้น จุดหลักๆ ที่เปลี่ยนจาก XP คือ
ส่วน Windows 7 นั้นพัฒนาต่อจาก Vista โดยยังคงสิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน Vista ตามรายการข้างต้นทั้งหมดไม่เปลี่ยนไปไหน แต่เพิ่ม Taskbar แบบใหม่ที่เปลี่ยนวิธีคิดของการสลับงานที่เราทำ (หรือหน้าต่าง) ไปจากระบบ Taskbar แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัย Windows 95 หน้าตาของมันเป็นไปตามรูป
(ผมพบว่าการอธิบาย Taskbar แบบใหม่ด้วยตัวหนังสือ + ภาพ มันยากเหมือนกันแต่จะลองพยายามนะครับ ถ้านึกตามไม่ออกและขี้เกียจหา Windows 7 มาทดสอบ ก็ลองหาวิดีโอใน YouTube ดูมีเยอะเลย)
สิ่งที่เปลี่ยนไปใน Taskbar แบบใหม่
อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงเริ่มนึกว่ามันเหมือนกับ Dock ของ Mac OS X แต่ว่าเอาจริงแล้วมันจะมีความต่างกันในหลายจุดซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายไปทีละจุดนะครับ
เวลาเอาเมาส์ไปชี้บนโปรแกรมที่เปิดอยู่ จะมีไฮไลท์สีต่างๆ ซึ่งต่างกันไปตามแต่ละโปรแกรม เท่าที่เปิดมา 6-7 โปรแกรมยังไม่เจอสีซ้ำกัน ส่วนกรณีที่โปรแกรมยังไม่ได้เปิดอยู่ จะแสดงเป็นจุดสีขาวด้านล่างใต้ไอคอน
เมื่อเอาเมาส์ไปชี้ จะแสดงพรีวิวของหน้าต่างที่เปิดอยู่ อันนี้เหมือนของ Vista
แต่พอเปิดหลายๆ หน้าต่างจะเริ่มไม่เหมือนแล้ว คือจะแสดงพรีวิวของหน้าต่างทุกอันที่เปิดอยู่ (ถ้ามีหลายอันมากๆ มันจะกลายเป็นลิสต์แทน)
ความแตกต่างที่สำคัญคือฟีเจอร์ Aero Peek แสดงเป็นภาพลำบาก (วิดีโอมีในข่าวเก่า) คือใน Windows 7 นั้น แค่เราเอาเมาส์ไปวาง (hover) บนภาพพรีวิวของหน้าต่างโดยไม่ต้องคลิก หน้าต่างอันนั้นจะถูกแสดงขึ้นมาบนหน้าจอทันทีโดยไม่สนใจว่าหน้าต่างนั้นจะ ถูกบังอยู่หรือไม่ จะต่างจากวินโดวส์รุ่นก่อนๆ ที่ต้องคลิกก่อนเพื่อสลับหน้าต่าง
ในภาพนั้นเป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากภาพก่อน คือผม peek หน้าต่าง Add-ons ของ Firefox ที่ถูกบังไว้ด้านหลังขึ้นมา ใน (ภาพหน้าจอไม่เห็นเคอร์เซอร์ แต่จริงๆ เคอร์เซอร์อยู่ที่กรอบ Add-ons ด้านล่าง) ส่วนหน้าต่างอื่นๆ ที่ถูกเปิดอยู่จะถูกซ่อนให้เห็นแต่กรอบใสๆ ดังภาพ
อย่างไรก็ตามการ hover ไม่ใช่การสลับหน้าต่างแบบถาวร เมื่อเราเอาเมาส์ออกจากภาพพรีวิว หน้าจอก็จะกลับสู่สถานะเดิม (ก่อนทำการ "peek" หรือแอบดูหน้าต่าง) ส่วนถ้าเรา peek จนพอใจว่าใช้หน้าต่างที่เราต้องการสลับแล้ว ก็ให้คลิกหนึ่งที่เพื่อสลับหน้าต่างจริงๆ (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เหมือนกับวินโดวส์ปกติ) พฤติกรรมของ peek จะทำให้วิธีการสลับหน้าต่างการทำงานของเราเปลี่ยนไปพอสมควร
แต่โปรแกรมที่แสดงศักยภาพของ Peek ได้ดีที่สุดคือ IE8 ครับ โดยจะแสดงพรีวิวของแท็บ (ไม่ใช่หน้าต่าง) ใน Peek
ตามตัวอย่างในภาพนี้ ผมเปิด IE8 อยู่เพียงหน้าต่างเดียว แต่ในหน้าต่างนั้นมี 2 แท็บ ซึ่งเวลาเอาเมาส์ไปชี้ที่ไอคอนของ IE8 มันกลับจะแสดงพรีวิวของเว็บเพจทั้งหมดที่เปิดอยู่ (โดยไม่สนใจว่าอยู่ในแท็บไหน) ต่างจาก Firefox ที่จะแสดงพรีวิวของหน้าต่างเท่านั้น (โดยไม่สนใจว่าหน้าต่างมีกี่แท็บ)
ฟีเจอร์นี้ของ IE8 นับว่ามีประโยชน์มาก (และเชื่อว่าเว็บเบราว์เซอร์อื่นๆ จะทำตามในอีกไม่นาน) เพราะจะเป็นการลดความสับสนของการสลับงานตามหน้าต่าง (ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Taskbar/Peek) กับการสลับแท็บ (ซึ่งเป็นหน้าที่ของเบราว์เซอร์) มารวมเป็นการสลับงานทั้งหมดด้วย Peek เพียงที่เดียว
นอกจากการ peek ดูหน้าต่างของโปรแกรมแล้ว เรายังสามารถ peek เพื่อดูเดสก์ท็อปได้โดยการเอาเมาส์ไปวางไว้บนสี่เหลี่ยมว่างๆ ด้านขวาสุดของ Taskbar ก็จะเป็นการ "แอบดู" เดสก์ท็อป พฤติกรรมจะคล้ายๆ กับ Expose ของแมค แต่ว่าจริงๆ แล้วมันคือปุ่ม Show Desktop เดิม ซึ่งน่าจะพอนึกภาพออกว่าถ้าผมกดปุ่มใสๆ นี้ก็จะเป็นการย่อหน้าต่างทุกอันลงไปแบบถาวร ไม่ใช่การ peek อีกแล้ว
ในภาพนี้ยังแสดงส่วนของ System Tray แบบใหม่เช่นกัน โดยไอคอนบน System Tray จะถูกจำกัดให้แสดงเฉพาะอันสำคัญๆ เท่านั้น เช่น สถานะของเครือข่าย ปุ่มสลับภาษา เสียง (ในภาพไม่แสดงเพราะหาไดรเวอร์ไม่เจอ) และ "Actions" (หรือ Security Center เดิม ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ไอคอนอื่นๆ จะถูกแสดงย่อไว้ในรายการเมนูที่ต้องกดแล้วถึงจะแสดง ทำให้ System Tray หายรกไปมาก (สามารถตั้งค่าให้ใช้ System Tray แบบเดิมที่แสดงทุกอย่างได้)
จุดนี้จะแสดงให้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของไมโครซอฟท์ต่อ Taskbar แบบใหม่ ว่าจริงๆ แล้วไมโครซอฟท์ไม่ได้ต้องการจะรวมเอา Quick Launch กับ Taskbar มาไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น ยังต้องการจะรวมเอา System Tray เข้ามาไว้ด้วยกันด้วย
ไมโครซอฟท์บอกว่าปัญหา System Tray รกนั้นเกิดจากว่าโปรแกรมไม่มีที่สำหรับแสดงข้อความเตือน (notification) ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโปรแกรม หรือแสดงรายการคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ ไว้ใน Taskbar แบบเดิมได้ จึงต้องใช้วิธีสร้างไอคอนใน System Tray แทน พอทำกันทุกโปรแกรมแล้วทำให้มันรกในที่สุด
แต่ Taskbar แบบใหม่นั้นจะมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Jump List ซึ่งจะเห็นเมื่อเราคลิกขวาบนไอคอนของโปรแกรมบน Taskbar ตามภาพนี้เป็นของ Windows Live Messenger 2009 จะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ใช้บ่อยๆ ของโปรแกรม
โปรแกรม Windows Live Messenger นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้ Taskbar แบบใหม่ โดย WLM 2009 จะไม่มีไอคอนใน System Tray อีกต่อไปแล้ว ทุกอย่างจะมารวมไว้บนไอคอนเดียวใน Taskbar แทน จากภาพจะเห็นว่ามีไอคอนสถานะถูกใส่เข้ามาทับบนไอคอนของ WLM 2009 ด้วยเช่นเดียวกับไอคอนใน System Tray ที่เราคุ้นเคย
กล่าวโดยสรุป เป้าหมายของไมโครซอฟท์กับ Taskbar แบบใหม่คือ โปรแกรมที่ใช้งานบ่อยๆ จะมีที่อยู่บน Taskbar เป็นไอคอนเพียงอันเดียว โดยไม่สนใจว่าจะเปิดอยู่หรือไม่ เปิดอยู่กี่หน้าต่าง มีสถานะอะไร มีคำสั่งลัดหรือไม่ ทุกอย่างจะรวมอยู่บนไอคอนอันนี้เพียงอันเดียว ส่วนของ System Tray ที่ยังคงไว้นั้นเพื่อรองรับโปรแกรมเก่าๆ ที่ยังไม่สนับสนุนแนวคิดนี้เท่านั้น (อย่างเช่น Gtalk เป็นต้น) ผมเชื่อว่าแนวคิดรวมไอคอนอันนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับลักษณะการใช้งานโปรแกรม ที่เริ่มต้องการหน้าต่างเป็นจำนวนมากมากขึ้น (เช่น เว็บเบราว์เซอร์หรือหน้าต่าง IM) จน Taskbar แบบเดิมไม่สามารถรองรับหน้าต่างจำนวนเยอะขนาดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ
ข้อเสียของ Taskbar แบบนี้คือการตัดข้อความแสดงชื่อโปรแกรมออกไป อาจทำให้เราดูข้อมูลบางอย่างได้ลำบากขึ้น เช่น เปอร์เซ็นต์การดาวน์โหลด (IE8 มีวิธีแก้ไข ดูด้านล่าง) หรืออย่างหน้าต่าง Chat ของ Gmail ที่จะเปลี่ยนหัว Titlebar เมื่อมีคนทักเข้ามา ก็จะไม่ถูกเห็นใน Taskbar ระบบใหม่นี้
สำหรับฟีเจอร์ Jump List นั้นโปรแกรมจะต้องเป็นฝ่ายรองรับฟีเจอร์นี้ด้วย ถ้าไม่สนับสนุนก็จะเห็นเฉพาะคำสั่งมาตรฐาน 3 อันด้านล่างในรูป
อย่างต่ำๆ ถ้าโปรแกรมไหนสนับสนุนฟีเจอร์ Recent Document อยู่แล้ว ก็จะดึงเอารายชื่อเอกสารที่เพิ่งเปิดมาแสดงใน Jump List อย่างเช่นของ Paint อย่างในภาพ
และส่วนของ Jump List นี้จะถูกนำไปแสดงใน Start Menu ด้วย โดยโปรแกรมที่สนับสนุน Jump List จะมีสามเหลี่ยมต่อข้างท้ายหลังชื่อโปรแกรม (ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่เพียงอันเดียวของ Start Menu จาก Vista มา Windows 7)
ฟีเจอร์ปลีกย่อยอื่นๆ ของ Taskbar คือเราสามารถย้ายตำแหน่งของโปรแกรมใน Taskbar ได้แล้ว
สำหรับ IE8 นั้นจะแสดงสถานะการดาวน์โหลดใน Taskbar ด้วย อันนี้ก็สะดวกดี
ถึงแม้จะมี Peek เพิ่มเข้ามา แต่ฟีเจอร์เดิม (ที่ไม่ค่อยมีใครใช้) อย่าง Flip 3D ก็ยังคงอยู่ครับ
ส่วนการจัดการหน้าต่างก็มีของใหม่ที่มีประโยชน์เช่นกัน นั่นคือถ้าลากหน้าต่างเข้าขอบด้านซ้าย-ขวาของหน้าจอ จะเป็นการขยายหน้าต่างให้อยู่ครึ่งหนึ่งของหน้าจอด้านนั้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเปิดสองหน้าต่างคู่กัน จะทำได้เร็วกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ถ้าลากขึ้นไปชิดขอบจอบนยังจะเป็นการ maximize หน้าต่างด้วย
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ Windows 7 คือการจัดการกับโปรแกรมและหน้าต่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของวินโดวส์และเราต้องอยู่กับมันแทบจะตลอดเวลา งานเหล่านี้ได้แก่ ดูว่ามีโปรแกรมอะไรเปิดอยู่บ้าง สลับหน้าต่าง เรียกโปรแกรม ดูสถานะ ขยับขยายปรับขนาดหน้าต่างที่เปิดอยู่ ฯลฯ ซึ่งผมได้พยายามอธิบายให้เห็นในรีวิวตอนนี้ไปแล้ว (ถ้ายังไม่เข้าใจ รบกวนต้องลองหาวิดีโอดูประกอบกันเองนะครับ)
ในตอนหน้าจะพูดถึงส่วนอื่นๆ ที่เหลือของ Windows 7 ที่ไม่ใช่ Taskbar และการสลับหน้าต่าง