GSMA เผยรายงานราคาคลื่นความถี่เฉลี่ยในประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าพัฒนาแล้ว, ไทยสูงติดอันดับโลก

by nismod
18 July 2018 - 07:58

ตั้งแต่การประมูลคลื่น 900 เมื่อปี 2016 สืบเนื่องมาจนถึงการประมูลคลื่น 1800 ปีนี้ ประเด็นที่ถูกพูดถึงที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องราคาคลื่นความที่ถี่ โดยเฉพาะการประมูลปีนี้ที่ กสทช. ตั้งราคาตั้งต้นเท่ากับราคาสุดท้ายของคราวก่อน ซึ่งสูงมากและหากยิ่งประมูล ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกนั้น

ทว่าประเด็นราคาคลื่นความถี่ที่สูงนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะในไทยเท่านั้น เมื่อ GSMA สมาคมที่ดูแลเรื่องการสื่อสาร ได้เปิดเผยรายงานการววิจัยที่พบว่า ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่แล้วเฉลี่ยสูงเหมือนกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วด้วยซ้ำ

ราคาคลื่นความถี่สูง ปิดกั้นการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่าย

งานวิจัยจาก GSMA ระบุว่าเมื่อปรับตัวเลข GDP ต่อประชากร ราคาสุดท้ายของคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วถึง 3 เท่า ขณะที่ราคาจองหรือราคาตั้งต้นของการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ย สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 5 เท่า โดยราคาคลื่นในไทยก็สูงติดอันดับโลกด้วย

สิ่งที่มาพร้อมกับราคาคลื่นความถี่ที่สูง คือคุณภาพการให้บริการที่ต่ำ ความเร็วต่ำและการครอบคลุมของสัญญาณที่น้อย ซึ่งเกิดจากการที่โอเปอเรเตอร์ต้องจ่ายค่าคลื่นความถี่แพงและไม่มีเงินทุนเพียงพอในการลงทุน เพื่อปรับปรุงและขยายบริการ และส่งผลต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพของผู้บริโภคอีกทอด


กราฟแสดงราคาสุดท้ายเฉลี่ย

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังโชคดีที่ความเร็วและการครอบคลุมสูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดี ซึ่งคุณ Christian Gomez ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและควบคุมคลื่นความถี่ของ GSMA ในเอเชียแปซิฟิกแสดงความเห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ในไทยน่าจะอยู่ได้ไม่นาน เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหลายประเทศจากวิจัย ที่พบว่าราคาคลื่นความถี่ที่สูงจะสวนทางกับการให้บริการและคุณภาพของสัญญาณ

บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลกับราคาคลื่นความถี่

GSMA ระบุถึงบทบาทสำคัญ 3 ข้อของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ที่ทำให้ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยออกมาสูง

  • การตั้งราคาประมูลตั้งต้นที่สูง
  • จำกัดอุปทานของคลื่นความถี่และจำนวนใบอนุญาต
  • การประมูลคลื่นไม่สอดคล้องกับ หรือขาดแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่ในระยะยาว


ราคาประมูลตั้งต้นเฉลี่ย

วิธีคิดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับราคาคลื่นความถี่

ผมได้สอบถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศพัฒนาแล้ว สามารถควบคุมราคาเฉลี่ยของคลื่นให้ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาและราคาค่อนข้างคงที่ คุณ Brett Tarnutzer ประธานฝ่ายคลื่นความถี่ของ GSMA ระบุว่า ประเด็นสำคัญคือมุมมองหรือวิธีคิดที่ตั้งใจจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว มากกว่าจะมองแค่รายได้ในระยะสั้น

ส่วนวิธีการคือปล่อยให้ราคาของคลื่น แปรไปตามกลไกลของตลาดให้ได้มากที่สุด ขณะที่การตั้งราคาตั้งต้น จะพิจารณาจากการศึกษาหรืองานวิจัยต่างๆ รวมถึงผลกระทบต่อตลาด เศรษฐกิจในภาพรวมและผู้บริโภค

GSMA มองว่า กสทช. โบ้ยความรับผิดชอบกับการประมูลคลื่น 900

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับงานศึกษาวิจัยแล้ว GSMA ยังแสดงความเห็นต่อการประมูลคลื่น 900 และ 1800 ที่จะประมูลในเดือนสิงหาคมนี้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงบางกฎระเบียบครั้งนี้ของ กสทช. อาทิ ยกเลิกเกณฑ์ n-1 ส่งผลบวกต่อการประมูล ทว่าปัญหาสำคัญคือราคาตั้งต้นที่ยังคงสูง แม้จะลดลงมาจากเดิม 2,000 ล้าน ซึ่งถือว่ายังน้อยและส่งผลต่อการลงทุนอื่นๆ ของโอเปอเรเตอร์ดังที่กล่าวไปข้างต้น

นอกจากนี้ GSMA ยังแสดงความกังวลในประเด็นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนกับอาณัติสัญญาณของรถไฟ ของผู้ชนะคลื่น 900 ด้วย พร้อมวิจารณ์ว่า เป็นการโยนความรับผิดชอบของ กสทช. ไปยังโอเปอเรเตอร์

หากใครสนใจสามารถอ่านรายงานเต็มได้จากลิงก์นี้

Blognone Jobs Premium