Microsoft ได้ออกประกาศล่าสุดในเรื่องการปรับปรุงความแม่นยำของเวลาบนระบบ Windows ทั้ง Windows 10 และ Windows Server 2019 โดยมีจุดสำคัญคือรองรับ Precision Time Protocol, leap seconds และอื่น ๆ โดยเตรียมอัพเดตให้ระบบปฏิบัติการในการอัพเดตใหญ่ครั้งหน้าซึ่งคาดว่าจะออกในเดือนตุลาคมนี้
แม้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์จะมีเวลา 24 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันบนโลก แต่หากวัดที่การหมุนของโลกรอบตัวเองจริง ๆ เวลามักจะช้าหรือเร็วกว่า 24 ชั่วโมงเล็กน้อย ดังนั้นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน จึงต้องใส่วินาทีเพิ่มหรือลด 1 วินาทีในวันที่ 30 มิถุนายนหรือ 31 ธันวาคมเรียกว่าอธิกวินาทีหรือ leap second เพื่อชดเชยเวลาที่ไม่ตรงเป๊ะ โดยการใส่อธิกวินาทีครั้งล่าสุดนั้นคือวันที่ 31 ธันวาคม 2016 (ข้อมูลเพิ่มเติมศึกษาจาก Wikipedia)
การใส่ระบบอธิกวินาทีเข้ามาใน Windows นี้ก็เพื่อให้นาฬิกาของระบบตรงกับเวลาที่โลกหมุนจริง ๆ มากยิ่งขึ้น โดย Microsoft ระบุว่ารองรับอธิกวินาทีทั้งลดและเพิ่มแม้ว่าในอดีตการใส่อธิกวินาทีจะยังไม่เคยลดเลยก็ตาม
ถัดไปคือการใส่ Precision Time Protocol (PTP) เข้ามาเพิ่มเติมจาก Network Time Protocol (NTP) ที่ถูกใช้ซิงค์เวลามาอย่างยาวนาน โดย PTP มีจุดสำคัญคือมีการวัด latency ของ network hop ทั้งหมดที่เดินทางจากแหล่งข้อมูลนาฬิกามาจนถึงจุดหมาย จึงทำให้ได้เวลาที่แม่นยำขึ้น แต่ PTP จะเป็นเพียงตัวเลือกให้ผู้ที่ต้องการใช้เวลาความแม่นยำสูงเท่านั้น ในขณะที่ระบบซิงค์เวลาหลักของ Windows ยังคงใช้ NTP เหมือนเดิม
นอกจากนี้ Windows Server 2019 จะใส่ฟีเจอร์ additional logging สำหรับตรวจสอบการกระทำจาก Windows Time Service ด้วย โดย log ที่สามารถดูได้ เช่น time server ที่เลือก, ความถี่ในการซิงค์, การซิงค์ครั้งสุดท้ายเมื่อไรและผลลัพธ์เป็นอย่างไร เป็นต้น
ที่มา - Microsoft TechNet Blog, Ars Technica, MSPoweruser