องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency - ESA) ประกาศข่าวการค้นพบแหล่งน้ำชั้นใต้ผิวดาวอังคารเมื่อวานนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบน้ำที่ยังคงสถานะเป็นของเหลวบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้
การค้นพบดังกล่าวมาจากการสำรวจของยาน Mars Express ซึ่งถูกส่งออกไปจากโลกตั้งแต่ปี 2003 โดย Mars Express ใช้สัญญาณเรดาร์ตรวจสอบหาสิ่งที่อยู่ใต้ผิวดินของดาวอังคาร โดยใช้การวิเคราะห์สัญญาณเรดาร์ที่สะท้อนพื้นผิวดาวอังคารกลับมายังยานสำรวจ ซึ่งจะวิเคราะห์ทั้งระยะเวลาที่สัญญาณเดินทางไปสะท้อนผิวดาวกลับมายังยาน และความแรงของสัญญาณที่สะท้อนกลับมา
การสำรวจของ Mars Express นี้กินพื้นที่กว้างประมาณ 200 กิโลเมตร ใกล้กับผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร ภาพที่ได้จากการแปลผลสัญญาณเป็นสีน้ำเงินนั้นถูกวิเคราะห์ว่าเป็นน้ำในสถานะของเหลว
เมื่อนำข้อมูลมาจัดแสดงเป็นภาพตัดขวางของพื้นผิวดาวอังคาร จะได้ว่าในพื้นที่ซึ่ง Mars Express ทำการสำรวจนั้นมีน้ำแข็งและฝุ่นดินทับถมสลับกันหนา 1.5 กิโลเมตร และมีน้ำในสถานะของเหลวซึ่งปรากฎเป็นสีฟ้าสว่างอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งและฝุ่นดินนั้น
ข้อมูลจากการสำรวจดาวอังคารก่อนหน้านี้ พบน้ำแข็งน้ำ (water ice) บนพื้นผิวดาวอังคารโดยพบเป็นปริมาณมากบริเวณขั้วดาว นอกจากนี้ยังสำรวจพบร่องรอยของแม่น้ำและแอ่งน้ำที่แห้งผากบนผิวดาว อีกทั้งการสำรวจของส่วนลงจอดก็ตรวจพบสารประกอบเคมีที่มีโมเลกุลของน้ำมาก่อนแล้วด้วย
อย่างไรก็ตามคาดว่าน้ำที่คงอยู่ในสภาวะของเหลวบนดาวอังคารนี้มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในบรรยากาศปกติบนโลกเรา เนื่องจากน้ำส่วนดังกล่าวอยู่ภายใต้ความดันสูงอันเนื่องมาจากแรงกดทับของชั้นฝุ่นและน้ำแข็งที่ซ้อนทับอยู่ด้านบน นอกจากนี้ปริมาณเกลือและสารเคมีต่างๆ ที่ละลายในน้ำดังกล่าวก็มีผลทำให้อุณหภูมิจุดเยือกแข็งของน้ำที่อยู่ตรงนั้นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำในสภาวะปกติบนโลกเราด้วย
การค้นพบน้ำใต้ชั้นน้ำแข็งและฝุ่นดินบนดาวอังคารครั้งนี้จุดประกายความหวังในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกขึ้นมาอีกระดับ บนโลกเราเองก็เคยค้นพบทะเลสาบ Vostok ซึ่งอยู่ลึกลงไป 4 กิโลเมตรใต้ชั้นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา และพบสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาวะสุดโต่งนี้ได้ แต่สำหรับแหล่งน้ำบนดาวอังคารที่มีแร่ธาตุเจือปนอยู่อย่างเข้มข้นด้วยนั้นจะมีหลักฐานของสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป
ที่มา - ESA