dtac เผยความพร้อมของ 5G ย้ำความแตกต่างของความเร็ว, latency และการเชื่อมต่อที่เหนือกว่า 4G

by blognonetomorrow
20 August 2018 - 04:54

ปัจจุบัน 5G ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นอีกก้าวของการสื่อสารที่จะสานต่อ 4G ที่ใช้กันอยู่ทั่้วโลก เป็นโครงข่ายโทรคมนาคมแห่งอนาคตที่มีความทันสมัย ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งภายในงาน Blognone Tomorrow ผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง dtac ได้นำเสนอแนวคิดในการผลักดัน 5G และความพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคถัดไปของเทคโนโลยีการสื่อสาร

5G ดีกว่า 4G อย่างไร

ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารของ dtac กล่าวถึง ประสบการณ์จาก 5G ที่จะดีขึ้นกว่า 4G แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่

  • แบนวิดท์สูงกว่า 4G ถึง 10 เท่า : ความเร็วของ 5G นั้นจะอยู่ในระดับ Gbps ซึ่งหนึ่งในประโยชน์ด้านความเร็วในการใช้งาน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสตรีมมิงวีดีโอความละเอียดระดับ 4K ได้ภายในระยะไม่กี่วินาที
  • latency ต่ำ : ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G ทำให้การตอบสนองต่อการสื่อสารหรือรับส่งข้อมูลทำได้รวดเร็ว
  • ปริมาณเชื่อมต่อ : จุดสำคัญของ 5G คือการเตรียมรองรับอุปกรณ์ที่คาดว่าในอนาคตจะมีปริมาณสูงมาก 5G ออกแบบให้เสาสัญญาณแต่ละต้นรองนับจำนวนอุปกรณ์ได้มากแต่แรก

องค์ประกอบสำคัญของ 5G

จุดเด่นสำคัญของ 5G คือ ทำให้ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตรวดเร็วขึ้น แต่การพัฒนาให้ใช้งานได้จริงเกิดขึ้นจริงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายด้าน ได้แก่

  • Connection Management : อุปกรณ์ที่รองรับกับอินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากร ฉะนั้นการบริหารจัดการระบบการเชื่อมต่อต่างๆ, การรับส่งสัญญาณให้มีความราบรื่น จำเป็นต้องมีตัวกลางในการจัดสรรสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Advanced Radio : การส่งสัญญาณวิทยุเพื่อรองรับ 5G ต้องใช้เทคนิคใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น beam-forming เทคนิคการจัดการกับสัญญาณรบกวน ที่ทำงานคล้ายกับหูฟังแบบลดเสียงรบกวน การทำ beam-forming มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคลื่นความถี่สูงขึ้น ที่ผ่านมาคลื่นโทรศัพท์มักใช้ย่านความถี่ไม่เกิน 6GHz แต่ใน 5G คิดไปถึง 20-30GHz แล้ว
  • Virtualization : ระบบการจัดการเก่าๆ มักมีระบบแยกกันหลายระบบ แต่ละระบบมีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง แต่หลังจากนี้เทคโนโลยี Virtualization จะรวบฮาร์ดแวร์ให้เหลือตัวเดียว และซอฟต์แวร์ทำงานบนฮาร์ดแวร์ชุดเดียวกัน ลด latency ของระบบลง

การพัฒนาต้องมีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ที่ชัดเจน

ดร.เอก ย้ำว่า 5G เกิดขึ้นอย่างแน่นอนและรวดเร็ว ซึ่งแนวทางที่จะผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นได้จะต้องมีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน โดยความถี่หลักๆ ของ 5G ที่จะเกิดขึ้น ประกอบไปด้วย

  • ความถี่ต่ำกว่า 1GHz คลื่นที่สามารถเข้าถึงตามตึกต่างๆ, ใช้ได้กับ IoT และตามพื้นที่ห่างไกล
  • ความถี่ 1-3GHz ที่ใช้ทั่วไปกับ 2G/3G/4G ในปัจจุบัน
  • ความถี่เกิน 20GHz ขึ้นไป ยิ่งความถี่สูง ยิ่งช่วยให้สัญญาณวิทยุที่ถูกส่งออกจากเสาสัญญาณ ไปถึงภาครับได้ชัดเจนที่สุด

ความพร้อมของ dtac เพื่อก้าวสู่ 5G

สำหรับ dtac ปัจจุบันได้มีการเตรียมความพร้อมสู่ 5G ด้วยการทดสอบเทคโนโลยีภายใต้คลื่น 2300 MHz, มีการนำ IoT ไปใช้ร่วมกับภาคเกษตรกรรม, ใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ของฮาร์ดแวร์ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านบริษัทสตาร์ตอัพ ในโครงการ dtac accelerate

นับเป็นการวางรากฐานของ dtac ในการก้าวสู่เทคโนโลยี 5G ที่ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และให้ความสะดวกสบายมากขึ้นผ่านบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Blognone Jobs Premium