ประสบการณ์ธนาคารกรุงเทพกับบล็อคเชน เมื่อไม่แน่ใจว่าจะใช้ทำอะไรก็เรียนรู้ไปด้วยกัน

by lew
23 August 2018 - 20:06

นับจากกระแสเงินคริปโตเริ่มถูกจับตามองทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ก็พยายามศึกษาว่าบล็อคเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้งานและเปลี่ยนแปลงโลกการเงินการธนาคารได้จริงหรือไม่ เราเห็นข่าวโครงการทดลองหลายโครงการทั่วโลก โดยทั่วไปแม้จะประกาศความสำเร็จต่างๆ แต่ในความเป็นจริงโครงการเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ถูกใช้งานเป็นวงกว้างหรือหลอมรวมเข้ากับระบบการเงินจริงนัก

เมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมงาน Corda Meetup ที่ธนาคารกรุงเทพ และคุณ Ian Guy Gillard ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพก็ได้มาเล่าถึงประสบการณ์ก่อนเลือกร่วมมือกับ R3

คุณ Gillard ระบุว่าขณะที่กระแสบล็อคเชนกำลังถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง แต่ธนาคารมีทางเลือกต่อบล็อคเชนอยู่สามทาง คือ 1) ไม่ทำอะไรเลย รอให้เทคโนโลยีเป็นรูปเป็นร่างก่อน 2) จ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษา ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทเหล่านี้ก็ไม่มีประสบการณ์ในโครงการจริงนัก 3) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา แต่เมื่อมีตัวเลือกอีกทางคือ R3 ที่ค่าสมาชิก 250,000 ดอลลาร์

ในช่วงนั้นทีมผู้บริหารธนาคารกรุงเทพได้พูดคุยกับบริษัทบล็อคเชนในซานฟรานซิสโกหลายบริษัท รวมถึง Ripple และ R3 และเมื่อได้พบ R3 ก็ประทับใจแนวทาง ที่ยอมรับตรงๆ ว่าไม่มีใครแน่ใจว่าควรทำอะไร และอาศัยการตั้งแล็บทดลองแนวทางและเทคโนโลยีต่างๆ ว่าเหมาะสมกับบริการใดบ้าง ทางธนาคารกรุงเทพจึงตัดสินใจเป็นสมาชิกกับ R3 และลงทุนใน R3 ในเวลาต่อมา

ปัญหาของระบบคอมพิวเตอร์กระจายตัว (distributed computing) อย่างหนึ่งคือเมื่อเครือข่ายมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพโดยรวมจะลดลง ปัญหาข้อจำกัด แนวทางของ R3 เมื่อทดสอบโครงการบล็อคเชนต่างๆ แล้วจึงพัฒนา Corda ขึ้นมาโดยอาศัยแนวทาง shared ledger (แทนที่จะ distributed) โดยข้อมูลจะแชร์กันระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

แม้ว่าข้อมูลจะแชร์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ Corda ก็ยังอาศัยกระบวนการทางวิทยาการเข้ารหัสลับ (cryptography) เพื่อใช้ยืนยันการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลต่างๆ ใน ledger ให้แน่ใจว่าการทำธุรกรรมเป็นอันสิ้นสุด แบบเดียวกับบล็อคเชน ขณะเดียวกันกระบวนการยืนว่าธุรกรรมเป็นอันสิ้นสุดก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน

แนวทางการศึกษาและความร่วมมือกับ R3 และสมาชิกอื่นๆ เช่นนี้ ทำให้ตอนนี้ธนาคารกรุงเทพร่วมมือในโครงการ 2 โครงการ คือ Voltron โครงการจัดการเอกสารการค้าระหว่างประเทศ และ MarcoPolo โครงการแพลตฟอร์ม Trade Finance ให้บริการทางการเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศ

Blognone Jobs Premium