สัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการไมโครซอฟท์ประเทศไทย ก้าวต่อไป คือทำ AI for Thailand

by sunnywalker
26 August 2018 - 01:49

Blognone สัมภาษณ์ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการรไมโครซอฟท์ประเทศไทย ในโอกาสที่คุณธนวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งครบ 1 ปี Blognone ก็เคยสัมภาษณ์ไว้ช่วงที่รับตำแหน่งใหม่ๆ ด้วย สามารถอ่านย้อนหลังได้ ที่นี่คุณธนวัฒน์บอกว่าธีมงานของ ไมโครซอฟท์ ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้คือ ทำ AI ให้เหมาะท้องถิ่นประเทศไทยมากขึ้น หรือ AI for Thailand

คุณธนวัฒน์ ยกตัวอย่างแอพพลิเคชั่น Seeing AI ที่มีฟังก์ชั่นเพื่อผู้พิการ ยกมือถือขึ้นจ่อวัตถุ ระบบจะบอกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร มีหลายโหมดทั้งอ่านวัตถุ วิว เอกสาร ข้อความสั้น-ยาว อ่านธนบัตร แต่ระบบตอนนี้แม้จะดาวน์โหลดมาใช้งานได้ แต่ยังไม่รองรับภาษาไทย อ่านธนบัตรได้แค่ 5 สกุล ดังนั้น ธีมของปีนี้คือ ทำ AI ให้เป็นไทยมากขึ้น

โฟกัสที่นักพัฒนาคนไทย

ปี 2019 ไมโครซอฟท์ จะทำงานร่วมกับบริษัทและนักพัฒนาไทยมากขึ้น เพื่อมาพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย ตัวอย่างที่เคยทำคือ บริษัท Digital Dialogue ทำแชทบ็อตให้การบินไทยโดยใช้แพลตฟอร์มของ ไมโครซอฟท์และยังมีฟังก์ชั่น Speech to Text ภาษาไทย เป็น API ในบริการของ Azure ซึ่งนักพัฒนาสามารถหยิบมาใช้ได้เลย โดยจะเปิดตัววันที่ 24 กันยายน ในงาน Ignite ที่ออร์แลนโด

ภาษาไทย เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ต้องทำ AI มาสร้างประโยชน์ให้คนไทยในด้านอื่นๆ ด้วย มีกรณีที่เคยทำเป็นโปรเจกต์สนุกๆ คือ สนับสนุนสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งให้นำ AI ไปช่วยรถตัดข้าวโพดที่เป็นพืชส่งออกหลัก ถ้าขับไม่ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ 10-20% ซึ่งเป็นเงินหลักร้อยล้านบาท ไมโครซอฟท์จึงช่วยสตาร์ทอัพนำ Mixed Reality ให้คนขับฝึกขับ ดังนั้นสิ่งที่ ไมโครซอฟท์จะทำไม่ใช่แค่ AI ภาษาไทย แต่เป็นการทำให้ AI เป็นเทคโนโลยีสำหรับท้องถิ่นไทยด้วย

Re-Skill คนไทย

ส่วนสุดท้ายคือการศึกษา เป็นที่ทราบกันว่าคนมีสกิล AI และดิจิทัลยังขาดอยู่จริงๆ ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ช่วยภาครัฐไทย ทำ codingthailand.org ที่แปลเนื้อหาจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ตอนนี้แปลระดับชั้นประถมศึกษาเสร็จแล้ว กำลังทำระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยต่อไป

การเทรนเด็กอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอแล้วในยุคนี้ เพราะคนอายุมากก็ถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี เช่นคนทำงานธนาคาร ซึ่ง ไมโครซอฟท์ มีกรณีที่เคยทำมาแล้วในต่างประเทศเช่น เทรนทหารผ่านศึกให้เป็น data scientist เราก็จะนำ know how พวกนี้มาทำงานร่วมกับ DEPA ทำ Re-Skill ในทักษะเทคโนโลยี

Blognone Jobs Premium