ทำไมแพ้แล้วไม่ตกรอบ รู้จัก Double Elimination ฟอร์แมตยอดนิยมของการแข่ง eSports

by geekjuggler
29 August 2018 - 14:06

จากการมาถึงของเกม RoV หรือ Realm of Valor เกม MOBA บนมือถือที่ตอนนี้ติดงอมแงมกันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งผลให้กระแสของ eSports ในประเทศไทยบูมขึ้นมาเป็นพลุแตก และ เริ่มมีคนให้ความสนใจรับชมการแข่งขัน eSports กันมากขึ้น

ทว่า หนึ่งในสิ่งที่หลายคนยังมีข้อสงสัยกันอยู่ ว่าทำไมบางทีมที่แพ้ไปแล้วยังมีสิทธิ์กลับมาแข่งขันต่อ จนพลิกกลับมาเป็นแชมป์ได้ในที่สุด ดังนั้น วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเรื่องนี้ผ่านการทำความรู้จักฟอร์แมตการแข่งขันที่เรียกว่า Double Elimination ซึ่งเป็นรูปแบบยอดนิยมสำหรับการแข่งขัน eSports

Double Elimination - แพ้สองครั้งถึงกลับบ้าน

ทั่วไปแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับระบบแพ้คัดออก หรือ Single Elimination จากการแข่งขันกีฬาทั่วๆ ไป เช่น รอบตัดเชือกของฟุตบอลโลก ที่การแพ้เพียงครั้งเดียวจะถือว่าตกรอบทันที แต่ระบบ Double Elimination ที่มักเจอใน eSports ต้องแพ้สองครั้งถึงจะตกรอบ

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างการประกบคู่ของ Arena of Valor World Cup 2018 ประกอบคำอธิบาย

ระบบ Double Elimination จะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 สาย คือ สายบน หรือ สายผู้ชนะ (Upper Bracket / Winner's Bracket) ในกรอบสีแดงหรือ สายล่าง หรือ สายผู้แพ้ (Lower Bracket / Loser's Bracket) ในกรอบสีน้ำเงิน

รูปแบบการแข่งขันจะประกบคู่แข่งกันไปเรื่อยๆ เหมือนการแข่งแบบแพ้คัดออกทั่วไป แต่จุดที่แตกต่างคือ

  • ทีมที่แพ้ในการแข่งขันสายบนจะยังไม่ออกจากการแข่งขันในทันที แต่จะต้องลงไปเล่นในสายล่างแทน
  • ทีมที่แพ้ในการแข่งขันสายล่างจะต้องออกจากการแข่งขันไป
  • คู่ชิงชนะเลิศของทัวร์นาเมนต์คือการเจอกันระหว่าง ผู้ชนะจากสายบน และ ผู้ชนะจากสายล่าง

ตัวอย่าง

ไทย: ไทยเริ่มต้นที่สายบน เอาชนะไต้หวันและเกาหลีใต้มาได้ จึงเข้าชิงชนะเลิศในฐานะผู้ชนะจากสายบน

เกาหลีใต้: เกาหลีใต้เริ่มต้นที่สายบน เอาชนะจีนได้ แต่แพ้ไทย จึงต้องตกลงไปแข่งขันต่อที่สายล่าง ซึ่งเกาหลีใต้สามารถเอาชนะไต้หวันมาได้ จึงเข้าชิงชนะเลิศด้วยในฐานะของผู้ชนะจากสายล่าง

ข้อได้เปรียบของการอยู่สายบน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า ทีมผู้ชนะจากสายบนที่ชนะมาตลอดแต่แพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ก็เท่ากับว่าหมดสิทธิ์แก้ตัวเลย เท่ากับพวกเขาแพ้ครั้งเดียวแล้วตกรอบเลยสิ?

จริงๆ แล้ว การเป็นผู้ชนะจากสายบนนั้นมีข้อได้เปรียบบางประการอยู่ดังต่อไปนี้

  • มีจำนวนแมตช์ที่ต้องเล่นน้อยกว่าผู้ชนะจากสายล่าง 1 นัด ทำให้มีเวลาพักและศึกษาคู่แข่งมากกว่า รวมถึงไม่ต้องเจอความกดดันของการเล่นในสายล่างที่หากแพ้ต้องออกจากการแข่งขันทันที
  • ในบางทัวร์นาเมนต์ ทีมผู้ชนะจากสายบนจะได้แต้มต่อในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เช่น หากแข่งขันกันแบบชนะจาก 3 ใน 5 ทีมผู้ชนะจากสายบนอาจจะได้แต้มต่อในการแข่ง ขึ้นนำอีกทีมด้วยสกอร์ 1-0 เลย
  • ในบางทัวร์นาเมนต์ ในรอบชิงชนะเลิศ ผู้ชนะจากสายล่างต้องเอาชนะผู้ชนะจากสายบน 2 รอบ จึงจะถือว่าชนะการแข่งขัน ในขณะที่ผู้ชนะจากสายบน หากเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเพียงรอบเดียวจะถือว่าเป็นแชมป์ทันที (รูปแบบนี้มักจะพบในการแข่งขันเกมไฟท์ติ้ง)

ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่สายบน

ไม่จำเป็นเสมอไปที่ทุกการแข่งขันทุกทีมต้องเริ่มต้นการแข่งขันที่สายบน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของทัวร์นาเมนต์ตามที่ผู้จัดกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ทัวร์นาเมนต์ The International 2018 ของ Dota 2

จากภาพ จะเห็นได้ว่า บางทีมจะเริ่มต้นการแข่งขันที่สายบน (กรอบสีแดง) หรือ สายล่าง (กรอบสีน้ำเงิน) ซึ่งตัวตัดสินว่าทีมใดจะได้อยู่ที่สายไหน มาจากลำดับในรอบแบ่งกลุ่มที่มีการแข่งขันกันก่อนหน้านี้นั่นเอง

ข้อดี-ข้อเสีย ของ Double Elimination

ข้อดี: เปิดโอกาสให้ทีมพลาดได้หนึ่งครั้ง ทำให้ทีมสามารถแก้ตัวได้ในการแข่งขัน รวมถึง เปิดโอกาสให้แฟนๆ ได้ตามเชียร์ทีมที่ตัวเองชอบได้มากขึ้น และ ช่วยแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น ทีมใหญ่สองทีมเจอกันในรอบแรก ซึ่งหากใช้การแพ้คัดออก จะต้องมีทีมใดทีมหนึ่งกลับบ้านตั้งแต่รอบแรก

ข้อเสีย: ใช้ระยะเวลาในการจัดการแข่งขันมากกว่าระบบแพ้คัดออกธรรมดาถึงสองเท่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อของใช้จ่ายของผู้จัดการแข่งขันทั้งในเรื่องค่าเช่าสถานที่หรือการบริหารจัดการต่างๆ

Blognone Jobs Premium