รู้จักกับ Sertis ผู้ให้บริการสำหรับงานจัดการข้อมูลโดยเฉพาะ

by blognonetomorrow
6 September 2018 - 06:31

ในงาน Blognone Tomorrow นอกจากการบรรยายแล้ว ยังมีส่วนของนิทรรศการ ซึ่งบริษัทหนึ่งที่มาออกบูธด้วยคือ Sertis ผู้ให้บริการด้านการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial Intelligence) ในองค์กร

Sertis ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยคุณธัชกรณ์ วชิรมน ผู้บริหารที่นำประสบการณ์จากการทำงานด้านให้คำปรึกษาในการบริหารจากต่างประเทศ พบว่าการใช้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคต่อไปจึงกลับมาเปิด Sertis ในประเทศไทย และเริ่มติดต่อ data scientist จากต่างประเทศมาร่วมงานกัน

ปัจจุบันนี้ Sertis มีพนักงานเกือบร้อยคน โดยมากกว่าครึ่งทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล และวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้แก่ data scientist ประมาณ 10 คน data engineer อีก 10 กว่าคน และ data analyst อีกกว่า 20 คน โดยเฉพาะในทีม data scientist นั้นประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญข้อมูลในด้านต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจากหลายประเทศ

นอกจากงานที่ทำอยู่แล้ว การบริหารคนในองค์กรก็เป็นสิ่งที่ Sertis ให้ความสำคัญอย่างมาก เราเน้นเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของคน โดยเชื่อว่าคนเรามีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ตัว ดังนั้นหากเราปลดล็อคสิ่งนี้ได้ ก็จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะพาองค์กรก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่มีคุณภาพได้

งานข้อมูลในโลกธุรกิจของจริง

ลูกค้าของ Sertis กระจายไปตามอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ ค้าปลีก, สุขภาพ, พลังงาน

การจัดการข้อมูลอาจจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ยินนัก แต่จริงๆ Sertis ก็เข้าไปช่วยลูกค้าสร้างระบบมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบที่ช่วยวิเคราะห์รูปแบบโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้า หรือการพยากรณ์ยอดขายล่วงหน้าเพื่อให้จัดการสต็อกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระแสการใช้ข้อมูลมาจัดการธุรกิจทำให้ลูกค้าหลายรายของ Sertis อยากได้ระบบของตัวเองบ้าง หรือมีระบบจัดการเก็บข้อมูลของตัวเองอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็พบว่าข้อมูลที่ลูกค้าเก็บย้อนหลังนั้นน้อยเกินไป หรือมีการเก็บข้อมูลในรูปแบบที่จัดการประมวลผลได้ยาก ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ตรงนี้ทางบริษัทก็เข้าไปให้คำปรึกษาเริ่มตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเก็บข้อมูล ก่อนจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อไป

นอกจากการเก็บข้อมูลที่เป็นตารางแล้ว ธุรกิจบางรายก็มีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ด้วย computer vision โดยใช้กล้องจับภาพและสร้างระบบขึ้นมาเรียนรู้รูปแบบ (pattern) ของสิ่งที่เราต้องการ เช่น ร้านค้าปลีกต้องการวิเคราะห์ลักษณะการเดินของลูกค้าในร้านเพื่อวางแผนการจัดวางสินค้า หรือการตรวจจับสินค้าที่จัดวางอยู่บนชั้น เพื่อตรวจสอบปริมาณสินค้า เป็นต้น

แอป Cutis.ai ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์โรคผิวหนัง โครงการหนึ่งที่ Sertis ทำร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช

บริษัทจะเริ่มใช้ข้อมูลได้อย่างไร

คำแนะนำโดยทั่วไปของ Sertis คือการเก็บข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พยายามเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และมีความสม่ำเสมอ เพราะปัญหาหนึ่งของหลายองค์กรคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ถูกเก็บในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ยากมากขึ้น

คนที่ทำงานข้อมูลควรเป็นอย่างไร

ผู้ที่ทำงานด้านข้อมูล ต้องเป็นคนที่ ‘คิดเป็น’ นั่นคือ สามารถตั้งปัญหาและรู้จักคิดวิเคราะห์รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ แน่นอนว่าทักษะเชิงวิชาการ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ การเขียนโปรแกรม เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทำงานด้านข้อมูลต้องมี แต่ทักษะที่เป็น soft skill ก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะหากไม่สามารถตั้งคำถามหรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็จะไม่สามารถคาดการณ์ (predict) สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้

Blognone Jobs Premium