เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ไมโครซอฟท์เปิดตัวคอมพิวเตอร์แท็บเลตรุ่นใหม่ของไลน์ Surface ในชื่อ Surface Go มีหน้าจอขนาด 10 นิ้ว ซีพียู Intel Pentium Gold 4415Y จัดเป็นสเปกต่ำสุดในผลิตภัณฑ์ Surface ทั้งหมดที่มีขายอยู่ปัจจุบัน โดยประเทศไทยถือเป็นกลุ่มแรกๆ ในโลกที่เปิดให้สั่งจอง ซึ่งผมก็ได้จองกับเขาด้วย และขณะนี้ได้ลองใช้มาเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว จึงเขียนรีวิวชิ้นนี้ออกมาครับ
Surface Go มีให้เลือก 2 รุ่น คือความจุ 64GB แบบ eMMC แรม 4GB และรุ่นความจุ 128GB แบบ SSD แรม 8GB โดยผมได้สั่งรุ่น 128GB มานะครับ เนื่องจากความจุสูงกว่าและที่สำคัญคือเป็น SSD ก็จะทำงานเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด
เปิดกล่องออกมาก็เจอ Surface Go วางอยู่เลย ของอย่างอื่นในกล่องมีเพียงอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ และเอกสารเท่านั้น
ด้านขวามือของเครื่องเป็นที่อยู่ของพอร์ตต่างๆ ไล่จากบนลงล่างคือ แจ็คหูฟัง 3.5 มม., พอร์ต USB-C 3.1 ที่รองรับการชาร์จด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery และพอร์ต Surface Connect
ขอบบนของเครื่องมีปุ่ม Power และปุ่มปรับเสียง
ขอบล่างของเครื่องก็แน่นอนว่าเป็นที่ต่อคีย์บอร์ด Type Cover
ด้านหลังเครื่องมีขาตั้งที่บานพับเปิดได้ทุกองศาตามใจชอบเหมือน Surface Pro ไม่ได้มี 3 ระดับเหมือนสมัย Surface 3 ที่จัดเป็นเครื่อง entry-level เหมือนกัน
เมื่อกางขาตั้งออก ก็จะเจอช่องเสียบ microSD อยู่ด้านใน
ด้านหน้าของเครื่องมีกล้องหน้า, ไมโครโฟน, ไฟ LED สีขาวติดเวลากล้องถูกใช้งานอยู่ และกล้อง Windows Hello สำหรับการปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้า ที่จะมีแสงสีแดงออกมาเวลากำลังสแกน
ขอบซ้ายและขวาของหน้าจอเป็นตำแหน่งของลำโพงสเตอริโอ
ต่อมาเป็นส่วนของคีย์บอร์ด โดยผมได้สั่งคีย์บอร์ด Type Cover รุ่น Signature มา สี Cobalt Blue ซึ่งให้ความพรีเมียมตรงที่หุ้มด้วยผ้า Alcantara แบบที่รถยนต์หรูใช้กัน ต้องบอกว่าให้สัมผัสที่เนียนมือมาก ซึ่งขายแพงกว่ารุ่นธรรมดาสีดำอยู่ประมาณ 1,000 บาท
สำหรับสัมผัสการพิมพ์ รู้สึกว่า travel distance หรือความลึกของปุ่มเวลากดลงไปนั้นสั้นมาก ประมาณ 1 มม. เห็นจะได้ และส่วนตัวผมต้องปรับตัวอยู่ประมาณ 1-2 วันก่อนจะพิมพ์ได้ถนัด เพราะคีย์บอร์ดค่อนข้างเล็ก เรียกว่าแรกๆ นี่พิมพ์ผิดกระจาย (โน้ตบุ๊กที่ผมใช้ทุกวันคือ Lenovo ThinkPad X260)
โดยรวมถือว่าคีย์บอร์ดทำได้ดี รู้สึกแน่น (firm) เวลาพิมพ์เร็วๆ และมีไฟใต้ปุ่มให้ 3 ระดับ (ปิด-สว่างน้อย-สว่างมาก) และความดีงามอีกข้อคือกดปุ่ม Home, End, Page Up และ Page Down ได้เลย ไม่ต้องกด Fn คู่กันแบบโน้ตบุ๊กยี่ห้ออื่นจำนวนมาก
ส่วนทัชแพดจัดว่ามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดของ Type Cover ใช้งานได้สะดวกไม่รู้สึกว่าเล็กไป และแน่นอนว่าเป็น Precision Touchpad ด้วย คือเป็นทัชแพดที่ให้ความแม่นยำสูง เลื่อนนิ้วเพียงนิดเดียวก็ทำงานแล้ว
เมื่อประกอบร่างกันแล้วก็ลองปรับขาตั้งดู
อันนี้ลองปรับให้จอตั้งขึ้น เหมือนเวลาขี้เกียจๆ แล้วชอบนั่งไกลๆ ไหลๆ ก็ต้องดึงจอให้ตั้งหน่อย
ต่อมาเป็นระดับปกติ คือนั่งหลังตรงต้องให้จอเอนลง
และอันสุดท้ายคือกดราบลงสุด ใช้เวลาวาดรูปหรือจดโน้ต
Surface Go มาพร้อม Windows 10 Home แบบ S Mode กล่าวคือเป็น Windows 10 หน้าตาปกติที่เราใช้กันเป๊ะๆ มี desktop ตามปกติ แต่ถูกจำกัดให้รันได้เฉพาะแอพจาก Microsoft Store เท่านั้น ไม่สามารถรันไฟล์ .exe ได้ โดยไมโครซอฟท์ระบุว่าเพื่อให้เครื่องทำงานได้เร็วอยู่เสมอ และ (ควรจะ) ปลอดภัยจากไวรัสเพราะรันไฟล์จากภายนอกไม่ได้
หน้าต่างนี้จะขึ้นมาเวลาเราคลิกเปิดไฟล์ .exe
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทุกคนสามารถออกจาก S Mode ได้ทุกเมื่อแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทำให้รันไฟล์ .exe และติดตั้งโปรแกรมภายนอก Store ได้ทันที ซึ่งขั้นตอนการออกจาก S Mode ก็ง่ายมาก เพียงแค่เข้า Microsoft Store และพิมพ์ในช่องค้นหาว่า "switch out of s mode" ก็จะเจอปุ่มให้กด ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 1 นาทีก็เสร็จสิ้น ไม่ต้องรีบูทเครื่องด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ การออกจาก S Mode เป็นการกระทำที่ถาวร คือเมื่อออกไปแล้วจะเปิด S Mode กลับมาอีกไม่ได้ แม้แต่การ reset เครื่องก็ไม่ทำให้ S Mode กลับมา โดยผมได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ Support ของไมโครซอฟท์แล้ว ทราบมาว่าต้องติดตั้ง Windows ใหม่จาก image เลยจึงจะใช้ S Mode ได้อีก
แต่ไหนๆ แล้วผมเลยตัดสินใจลองใช้ Surface Go "แบบเดิมๆ" ดูก่อน ว่าการใช้งานบน S Mode มันดีหรือแย่อย่างไร สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดคือ "เบราว์เซอร์" เมื่อเราใช้โปรแกรมอื่นนอก Store ไม่ได้ จึงถูกบังคับให้ใช้ Microsoft Edge ไปโดยปริยาย ซึ่งพอได้ทดลองใช้มันแบบเต็มๆ ก็พบว่าไม่ได้แย่มาก เข้าเว็บได้รวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่ไม่ชอบคือเราไม่สามารถเปลี่ยน search engine เป็นกูเกิลได้นะครับ บังคับใช้ Bing อย่างเดียว อันนี้ผมว่าบังคับกันมากเกินไป เพราะการใช้กูเกิลไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรันโปรแกรมภายนอกแต่อย่างใด ต้องหวังให้กูเกิลนำ Chrome เข้าสู่ Store ซึ่งก็ไม่น่าเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ส่วน Office 365 ก็มีให้ซื้อบน Microsoft Store ได้ทันที หรือใครซื้อไว้แล้วก็ล็อกอินและติดตั้งได้ตามปกติ แต่ใครที่ไม่อยากเสียเงินซื้อก็สามารถโหลด Office เวอร์ชันใช้ฟรีได้เช่นกัน เพราะไมโครซอฟท์จัดว่าอุปกรณ์ที่มีขนาดหน้าจอเล็กกว่า 10.1 นิ้วถือเป็นอุปกรณ์ที่คนทั่วไปใช้กัน ไม่ใช่ผู้ใช้ระดับโปร จึงให้สิทธิ์ดาวน์โหลด Office ไปใช้ได้ฟรี เฉกเช่นเดียวกับ Office for Android หรือ Office for iOS นั่นเอง เพียงแต่ฟีเจอร์จะน้อยกว่า
เรื่องถัดมาจัดเป็นไฮไลต์ของอุปกรณ์ Surface ก็ว่าได้ นั่นคือปากกา แต่ต้องออกตัวก่อนว่าปากกาที่ผมใช้ขณะรีวิวนี้เป็นปากกาตั้งแต่สมัย Surface 3 เลย ซึ่งถือเป็นรุ่นเก่านะครับ โดยหลังจากปากการุ่นนี้ ไมโครซอฟท์ได้ออกปากกามาแล้ว 2 รุ่น คือรุ่นในยุค Surface Pro 4 และรุ่นปัจจุบัน
เมื่อลองเขียนเป็นครั้งแรกผมพบว่าต้องกดปากกาแรงกว่าการเขียนบน Surface 3 อยู่พอสมควร เรียกว่าหากเขียนด้วยน้ำหนักปกติเส้นจะขาด หรือเป็นจุด ต้องบังคับตัวเองให้กดแรงขึ้นถึงจะเขียนได้ ทำให้เป็นปัญหามากเวลาวาดรูปเพราะน้ำหนักเส้นจะไม่ได้ แต่หากกดแล้วจะสามารถเขียนได้ไหลลื่น เส้นตามหัวปากกาได้ดี
สรุปว่าหากใครใช้ Surface 3 อยู่แล้วอยากอัพเกรดมาใช้ Surface Go และหวังว่าจะประหยัดเงินโดยการใช้ปากกาเดิม ผมต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะแม้จะเขียนได้ แต่กลับใช้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ได้ครับ
ต่อมาผมมีโอกาสไปเดินห้าง และนำ Surface Go ติดไปด้วย เลยถือโอกาสขอร้านลองปากการุ่นปัจจุบัน พบว่าดีกว่าเดิมมาก เขียนเบาๆ ก็ติดแล้ว ถือว่าทำมาเพื่อกันและกันอย่างแท้จริง น้ำหนักการเขียนทุกอย่างเป็นธรรมชาติมาก อีกทั้งหัวปากกาก็มีความฝืดกว่าปากกาของ Surface 3 ทำให้รู้สึกมีแรงเสียดทานขณะเขียนเหมือนปากกาจริงๆ (เวลาใช้ปากกา Surface 3 คือลื่นไปเลย)
นอกจากนี้ปากการุ่นปัจจุบันยังรองรับแรงกดถึง 4,096 ระดับ (ปากการุ่นเก่ารับได้ 1,024 ระดับ) และรองรับการเอียงปากกาเพื่อแรเงาด้วยครับ
สรุปการใช้งาน Surface Go แบบ S Mode คือสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง มีแอพใน Store ครบ เช่น LINE, Facebook, Facebook Messenger, Instagram, Netflix, Spotify, Slack, iTunes, WhatsApp, Skype ฯลฯ คือถ้าไม่มีความต้องการใช้โปรแกรมเฉพาะทางจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องออกจาก S Mode ก็ได้
ส่วนแอพวาดเขียนก็มีให้เลือกใน Store มากมาย เช่น Autodesk SketchBook, Evernote, Fresh Paint, Sketchable และ Microsoft Whiteboard
ตัวอย่างรูปที่ผมระบายสี จากแอพ Zen: Coloring book for adults
ส่วนตัวผมคิดว่าบังคับใช้ Microsoft Edge ยังไม่เท่าไหร่ แต่บังคับใช้ Bing ด้วยนี่ถือว่าแย่มากๆ
ต่อมาผมจึงกดออกจาก S Mode เข้าสู่การใช้งานแบบปกติ ได้ลองวัดความเร็ว SSD มาให้ดูกันครับ โดยไมโครซอฟท์เลือกใช้ SSD จากโตชิบา รุ่น KBG30ZPZ128G โดยมองเห็นจริง 117GB และหลังเปิดเครื่องมาเหลือให้ใช้ 96GB
แม้คะแนนจะน้อย แต่การใช้งานโดยรวมลื่นไหลนะครับ เปิดโปรแกรมต่างๆ ได้เร็ว เครื่องรีบูทเร็ว ตื่นเร็ว ไม่ค่อยมีอาการกระตุกให้เห็น
ส่วนการเล่นเกม ผมไม่ได้ลองติดตั้งเกมจาก Steam มาทดลองนะครับ (คือไม่น่าเล่นเกมส่วนใหญ่ได้) แต่ได้โหลดเกม Asphalt 9 มาลองเล่น ก็ไหลลื่นดีไม่มีปัญหาอะไร
ด้านแบตเตอรี่ เมื่อชาร์จเต็ม ใช้งานเบราว์เซอร์ทั่วไป อ่านนู่นนี่ เปิดประมาณ 10 แท็บ ดูยูทูบ พร้อมเปิดแอพ Spotify และ OneNote ค้างไว้ แบตอยู่ได้ราว 5 ชั่วโมง และดูจาก Battery Report ก็เป็นตามที่รู้สึกครับ คือถ้าไม่ได้ใช้งานต่อเนื่องตลอดเวลาก็ควรอยู่ได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น (ดาวน์โหลด Battery Report ได้ที่นี่ แล้วเปิดด้วยเบราว์เซอร์นะครับ)
ความดีงามของ Surface Go คือมีพอร์ต USB-C เสียที ซึ่งมีแล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะรองรับทุกอย่างตั้งแต่การถ่ายโอนไฟล์, ต่อจอนอก รวมไปถึงการชาร์จไฟด้วยมาตรฐาน USB Power Delivery ด้วย
ผมใช้อะแดปเตอร์ยี่ห้อ Tronsmart รุ่น U5P ซึ่งรองรับมาตรฐาน USB PD จ่ายไฟได้สูงสุด 30 วัตต์ ร่วมกับสาย USB-C ของ Google Pixel ชาร์จไฟเข้า Surface Go ตั้งแต่แบตเหลือ 8% จนถึง 98% ได้ภายใน 2 ชั่วโมง โดยเป็นการชาร์จผ่าน USB-C Hub ของ Ugreen อีกที พร้อมต่ออุปกรณ์อื่นคือตัวอ่านการ์ด microSD, เมาส์ไร้สาย, คีย์บอร์ด และสาย HDMI ไปออกจอใหญ่ด้วย (จริงๆ มีสาย USB-C ยาว 2 เมตรของแอปเปิลอยู่ด้วย แต่ดันไม่ได้เอามาใช้ ซึ่งอาจจะชาร์จเร็วกว่านี้)
ตลอดการใช้งาน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมชาร์จเครื่องด้วยพอร์ต USB-C ตลอด เอาอะแดปเตอร์ขนาด 24 วัตต์ที่มากับเครื่องมาใช้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากพยายามปรับให้อุปกรณ์รอบตัวรองรับ USB PD มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว เพื่อจะได้ชาร์จ Google Pixel 2 ที่ใช้อยู่ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ผมยังทดลองใช้ power bank ยี่ห้อ Aukey รุ่น PB-Y7 ที่รองรับ USB PD 30 วัตต์เช่นกัน ก็ชาร์จ Surface Go จนเต็มได้ภายใน 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม หลังชาร์จไฟด้วยพอร์ต USB-C จนเต็ม 100% ขณะใช้งานผ่าน USB-C Hub ที่ต่อจอด้วยสาย HDMI ผมพบว่าหน้าจอดับไป และไม่ติดขึ้นมา ต้องกาง Type Cover ออกเพื่อให้จอของ Surface ติด และพับเก็บไปอีกครั้ง จึงจะกลับมาใช้งานต่อได้
สุดท้ายผมได้ทดลองชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ขนาด 18 วัตต์ของ Google Pixel ด้วย ซึ่งก็ชาร์จเข้านะครับ แต่ค่อนข้างช้า โดยเครื่องประเมินไป 2 ชั่วโมงกว่า คิดว่าถ้าใช้งานหนักๆ และต่อ Hub ไปด้วยอาจจะชาร์จไม่เข้าเลย
หลังสลับออกจาก S Mode แล้วผมยังได้ทดลองใช้งาน Visual Studio 2017 ลองคอมไพล์โค้ดตัวเองที่เป็น ASP.NET ก็ไม่ได้รู้สึกว่าช้าจนใช้ไม่ได้นะครับ คือใช้แก้โค้ดเร็วๆ หรือเป็นเครื่องสำรองที่เอาไว้ทำงานนอกสถานที่นี่ได้แน่นอนครับ ผมว่าข้อจำกัดที่จะทำให้เขียนโค้ดลำบากคือหน้าจอที่เล็ก มากกว่าจะเป็นซีพียูรุ่นต่ำ แต่สำหรับนักพัฒนาสายโมบายล์ที่ต้องรัน emulator นี่ผมว่าไม่ไหวครับ
Surface Go ไม่มีพัดลมนะครับ ระหว่างการใช้งานทั่วไปในบ้านไม่ติดแอร์ ผมเอาปืนวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดยิงบริเวณใต้กล้องหลัง วัดได้ประมาณ 40 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นบริเวณที่ร้อนที่สุดในเครื่อง ส่วนเวลาชาร์จจะอยู่ที่ราว 43 องศาเซลเซียสครับ คือค่อนข้างร้อนเหมือนกัน
Surface Go ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์น้องใหม่ที่ทำผลงานได้น่าประทับใจ การใช้งานโดยรวมไม่ช้าเหมือนที่กลัวตอนเห็นสเปก แถมยังเบาและพกพาง่าย (ผู้หญิงน่าจะชอบ) คีย์บอร์ดทำมาได้ดี ทัชแพดมีขนาดใหญ่
หากมีโน้ตบุ๊กหรือ desktop เครื่องหลักอยู่แล้ว อาจซื้อ Surface Go มาใช้เสริมเช่นหยิบไปเข้าประชุม, จดโน้ตระหว่างการประชุม หรือแม้แต่พนักงานขายที่ต้องไปพบลูกค้าก็น่าจะใช้ประโยชน์จาก Surface Go ได้มากเช่นกัน
นักเรียน, นักศึกษาก็ถือว่าเหมาะมากกับการใช้ Surface Go โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่ต้องมีการจดบันทึกและวาดรูปเยอะๆ ที่ผมเห็นคือเอา iPad / iPad Pro ไปเรียน และใช้คอมพิวเตอร์อีกเครื่องในการทำงาน หากใช้เครื่องเดียวไปเลยก็สามารถดึงโน้ตต่างๆ มาทำงานได้สะดวกขึ้น และปากกาของ Surface ยังดีกว่า Apple Pencil ตรงที่กลับปากกาเอาปลายมาเป็นยางลบได้ด้วย รวมถึงหากพื้นที่เก็บข้อมูลไม่พอ ก็ซื้อการ์ด microSD มาใส่เพิ่มได้สูงสุด 512GB อีกด้วย
ใครที่ยังลังเลว่าจะเอารุ่น 64 หรือ 128GB ดี ผมแนะนำว่าถ้าไม่ติดเรื่องงบประมาณจริงๆ ควรเอารุ่น 128GB ไปเลย เพราะสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ความจุที่มากขึ้นเท่าตัว แต่เครื่องจะทำงานเร็วขึ้นอย่างมากเนื่องจากเป็น SSD และยังได้แรม 8GB อีกด้วย