[บทวิเคราะห์] ลูกค้า dtac จะเป็นอย่างไรต่อไป หากบริษัทไม่ได้รับการเยียวยาคลื่น

by nismod
10 September 2018 - 07:11

นับเป็นช่วงสำคัญของ dtac อีกครั้งเมื่อคลื่นสัมปทานภายในมือย่าน 850 MHz และ 1800 MHz ที่ถืออยู่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 15 กันยายนนี้ ถึงแม้ dtac จะเพิ่งประมูลได้คลื่น 1800 MHz ภายใต้ระบบของ กสทช. ไปเมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า 12,511 ล้านบาท แต่หลังวันที่ 15 คลื่น 1800 ในมือจะเหลือความกว้างเพียง 5 MHz จากของเดิมที่มีถึง 25 MHz

dtac ให้บริการบนคลื่น 850 และ 1800 ภายใต้สัมปทานจาก CAT มายาวนานถึง 27 ปี ตอนนี้เหลือผู้ใช้อยู่บนระบบสัมปทานเดิมราว 340,000 รายที่ยังไม่ได้ย้ายมาใช้คลื่นใหม่ที่ได้จากการประมูล (เป็นลูกค้าของบริษัท dtac TriNet) โดยแบ่งเป็นผู้ใช้บนคลื่น 850 จำนวน 90,000 รายและ 1800 จำนวน 250,00 ราย แต่ทาง กสทช. ยังคงไม่มีข้อสรุปว่าจะเยียวยาคลื่นหลังหมดสัมปทานให้กับทาง dtac หรือไม่ จน dtac ต้องฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครอง เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ลูกค้ากว่า 340,000 รายซิมดับ

สถานการณ์ของ dtac จึงค่อนข้างหัวเลี้ยวหัวต่อ เราขอสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้อีกครั้ง รวมถึงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย

ความเดิมตอนที่แล้ว

กสทช. ระบุเอาไว้ว่าจะพิจารณามาตรการเยียวยาก็ต่อเมื่อ ผู้ยื่นขอเยียวยาเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใหม่ (ในที่นี้คือคลื่น 900 และ 1800) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งdtac ก็ได้ร่วมประมูลคลื่น 1800 มาทั้งหมด 5MHz จึงเข้าเกณฑ์ของ กสทช. ที่จะได้รับพิจารณาเยียวยาคลื่น

ปัญหาอยู่ที่คลื่น 900 เพราะ กสทช. จัดเรียงคลื่นใหม่ (รีฟาร์ม) มาจากคลื่น 850 ทำให้หาก dtac ได้มาก็ต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันคลื่น 850 หรือ UMTS 850 เป็นคลื่นที่ใช้งานความถี่ย่าน 824-849MHz สำหรับ uplink และ 869-894MHz สำหรับ downlink ส่วนคลื่น 900 นั้นอยู่ที่ 880-915MHz สำหรับ uplink และ 925-960 สำหรับ downlink จะเห็นว่าปัญหาคือคลื่นสองย่านนี้ทับซ้อนกัน และในความเป็นจริงแถบเอเชียแปซิฟิกก็ไม่ค่อยใช้งานคลื่น 850 นัก เท่าที่พบมีเพียง ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, และไทย เท่านั้น การนำไปเรียงกันในย่าน 900 ทำให้การใช้คลื่นมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยคลื่นที่เพิ่งประมูลไป คือย่าน 900 เป็นคลื่น 885-890MHz uplink และ 935-940MHz downlink

การย้ายคลื่นเช่นนี้ทำให้ผู้ให้บริการต้องติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ (เพราะอุปกรณ์ 850 และ 900 ใช้ร่วมกันไม่ได้) โดย dtac ระบุว่าการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี

นอกจากนี้ การประมูลคลื่น 900 ในรอบที่ผ่านมา ยังมีเงื่อนไขสำคัญคือผู้ชนะประมูลคลื่น 900 จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันคลื่นรบกวนให้รถไฟฟ้าในอนาคต และหากติดตั้งแล้วยังคงมีปัญหารบกวนอีก กสทช. ก็ยังสามารถปรับคลื่นความถี่ได้อยู่ดี ซึ่งทาง dtac มองว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้ค่อนข้างสูงและไม่จำเป็น (อ่านเพิ่มเติม) ประกอบกับราคาคลื่น 900 ค่อนข้างสูง เพราะใช้ราคาตั้งต้นจากการประมูลครั้งก่อน (บทความที่เกี่ยวข้อง : GSMA เผยรายงานราคาคลื่นความถี่เฉลี่ยในประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าพัฒนาแล้ว, ไทยสูงติดอันดับโลก

จากทั้งประเด็นการเปลี่ยนคลื่น, ราคาคลื่นที่สูงถึง 35,000 ล้านต่อ 2x5MHz, และเงื่อนไขที่ต้องไปป้องกันสัญญาณรบกวนให้เครือข่ายอื่นทำให้ dtac ตัดสินใจไม่เข้าประมูลคลื่น 900 ที่

แต่อย่างที่ทราบกัน dtac และ CAT พยายามยื่นเรื่องกับ กสทช. มาตลอดแต่ก็ยังคงไร้เสียงตอบรับเรื่องการเยียวยา จน dtac ต้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครอง

ตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ความเป็นไปได้ของกรณีนี้จึงมี 3 ทาง

  1. กสทช. ไม่เยียวยาอะไรเลย จะส่งผลให้ผู้ใช้ 3G บนคลื่น 850 อย่างน้อย 90,000 รายเกิดปัญหาซิมดับทันที และคลื่น 3G ในหลายพื้นที่ก็อาจจะครอบคลุมน้อยลง เพราะคุณลักษณะของคลื่น 850 เป็นที่มีกำลังส่งได้ไกลกว่าคลื่น high-band (dtac เปิดช่องทางให้ตรวจสอบได้ว่าอยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณไม่ครอบคลุมหรือไม่ผ่านทาง *777 ซึ่งจะเริ่มใช้ได้วันที่ 13 กันยายน)
  2. กสทช. เยียวยาเฉพาะคลื่น 850 ทำให้ซิมไม่ดับ เพราะ dtac จะมีทั้งคลื่น 850 1800 2100 และ 2300 ให้บริการเช่นเดิม แต่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือคลื่น 1800 ที่เคยกว้าง 25MHz ของ dtac จะเหลือเพียง 5MHz เท่านั้น คงทำให้บริการ 2G และ 4G หนาแน่นยิ่งกว่าตอนนี้อย่างมาก ถึงแม้ dtac จะมีคลื่น 2100 และ 2300 รับช่วงผู้ใช้ตรงนี้อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนที่รองรับคลื่นย่าน 2300 ที่ dtac ถือครองแบนด์วิธเยอะที่สุด ยังมีไม่เยอะเท่า 2100 และ 1800 จึงอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าบางส่วนได้เช่นกัน
  3. dtac ได้รับเยียวยาทั้งย่าน 850 และ 1800 จะถือเป็นข่าวดีที่สุดสำหรับลูกค้า dtac ที่สามารถใช้งานต่อไปได้แทบเหมือนเดิม และทาง dtac มีเวลาขยายเสา 2300 ต่อไประหว่างเยียวยา

ความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับเยียวยาอะไรเลยอาจจะต่ำสักหน่อย เพราะกระทบกับผู้ใช้จำนวนมาก หาก dtac ไม่ได้รับการเยียวยา จะเกิดผลกระทบหลักๆ 2 กลุ่มด้วยกัน

  1. ผู้ใช้ซิม ของบริษัท dtac เดิม ไม่ใช่ dtac Trinet (DTN) จะใช้งานไม่ได้อีกเลย น่าสนใจว่า dtac ระบุรวมลูกค้ากลุ่มนี้ทั้งคลื่น 850 และ 1800 รวม 340,000 ราย เป็นคลื่น 850 จำนวน 90,000 ราย และคลื่น 1800 จำนวน 250,000 ราย
  2. ลูกค้าพื้นที่ห่างไกล จะ “ไม่ได้รับความสะดวก” (คำตามจดหมายข่าว dtac) ในการใช้งาน ในความเป็นจริงเป็นไปได้อย่างมากว่าจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่คลื่น dtac หายไป ต้องรอการติดตั้งเสาเพิ่มเติม โดยลูกค้ากลุ่มนี้ dtac ระบุว่ามีมากกว่าล้านราย

สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ผลกระทบคงเป็นประสิทธิภาพของ 4G ในย่าน 1800 ที่น่าจะลดลงอย่างมาก เพราะคลื่นที่เคยมีกว้างถึง 25MHz (มี 50MHz ใช้จริง 25MHz) นั้นเหลือให้ใช้งานเพียง 5MHz ตามที่ dtac เพิ่งประมูลได้มา

ข้อมูลจาก dtac

ในแง่ประสิทธิภาพรวมของทั้งค่าย หลายคนอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะโทรศัพท์มือถือระดับกลางและระดับบนหลายรุ่นก็รองรับคลื่น 2300 หรือ dtac Turbo ที่กว้างถึง 60MHz แต่การติดตั้งให้ครอบคลุมเท่าเดิมก็ยังต้องใช้เวลา และโทรศัพท์เก่าๆ จำนวนหนึ่งก็ไม่รองรับคลื่นนี้ ทำให้คนจำนวนมากน่าจะอยู่ที่ 1800 และ 2100 ต่อไปอยู่ดี

แม้ว่า dtac จะยืนยันว่าการขอเยียวยาจะไม่ใช่การใช้คลื่นฟรี บริษัทจะต้องส่งกำไรทั้งหมดให้ กสทช แต่ก็อาจมีปัญหาเรื่องนี้ตามมีอีกระลอก เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง AIS และ True ก็เคยมีปัญหาหลังการเยียวยากับกสทช. มาแล้วจากการที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า แค่ไหนควรเป็นต้นทุน แค่ไหนควรเป็นกำไร จนจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ กสทช. เพิ่มขึ้นและทุกวันนี้ก็ยังจ่ายค่าคลื่นกันไม่ครบ ล่าสุด True ก็ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ด้วย

ที่สำคัญ คือลูกค้าที่ยังอยู่กับ dtac คงต้องติดตามการตัดสินใจของกสทช. และศาลปกครองอย่างใกล้ชิดต่อไป

Blognone Jobs Premium